รีเซต

บุษราคัม แจงเคสบังซา เผย ป่วยอาการน้อย 7 วันกลับบ้านได้ ชี้ถ่ายภาพในรพ.ผิดกม.

บุษราคัม แจงเคสบังซา เผย ป่วยอาการน้อย 7 วันกลับบ้านได้ ชี้ถ่ายภาพในรพ.ผิดกม.
มติชน
31 กรกฎาคม 2564 ( 13:45 )
72

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวประเด็นการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล(รพ.) บุษราคัม ว่า ตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์ อนุญาตให้ผู้ป่วยอาการน้อย รักษาอยู่ที่ รพ. อย่างน้อย 7 วันและวันที่ 8 ต่อไปสามารถกลับไปรักษาตัวเองที่บ้านได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการระบาดสูง เนื่องจากจะต้องใช้เตียงให้ผู้ป่วยรายใหม่

 

 

“ผู้ป่วยอาการน้อยที่ไม่รุนแรง เมื่อติดเชื้อครบ 7 วัน โดยทั่วไปของโรคอาการจะไม่รุนแรงขึ้น อาการจะดีขึ้น ซึ่งสามารถกลับบ้านไปกักตัวต่อได้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

 

 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยที่รักษาครบ 14 วันแล้ว ตามมาตรฐานของกรมการแพทย์ก็ไม่จำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อ RT-PCR ซ้ำ เนื่องจากอาจเจอซากเชื้อได้ ที่เมื่อตรวจก็จะพบว่ามีผลบวกอีก ทั้งนี้ เราจะให้ใบรับรองแพทย์ว่า ผู้ป่วยมีการรักษาในโรงพยาบาลครบกำหนดแล้ว

 

 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ทาง รพ.บุษราคัม กำลังจะเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ เพื่อสื่อสารกับประชาชน เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนถึงสถานการณ์ภายใน รพ. รับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

 

 

“ทางโรงพยาบาลยินดีรับคำติชมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วย ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเจตจำนงของเรา” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

 

 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตามพรบ.สถานพยาบาล โดยทั่วไปแล้วถือว่าพื้นที่ในรพ.บุษราคัม เป็นโรงพยาบาล ดังนั้น การถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะภาพผู้ป่วย ภาพเจ้าหน้าที่ในระหว่างการปฏิบัติงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดสิทธิ แม้กระทั่งผู้ป่วยถ่ายภาพผู้อื่นภายใน รพ.เอง ก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกันกับ รพ.ทั่วไป

เมื่อถามถึงกรณีอาสาสมัคร “บังซา” ที่ไลฟ์สดใน รพ.บุษราคัม ซึ่งภายหลังบังซา ระบุว่าตนถูกเชิญออกจากรพ. นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องขอขอบคุณที่มีการสะท้อนแง่มุมภาระงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเท่าที่ดูก็ไม่ได้เห็นว่ามีการตำหนิเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการนำเสนอที่อาจจะต้องการให้มีความน่าสนใจ จึงมีการใช้คำพูดที่รุนแรง แต่เชื่อว่าไม่ได้มีเจตนาอะไร

“ผมดูแล้วมาก็ได้ช่วยยกคนไข้ เข็นคนไข้ที่สูญเสีย ช่วยเหลือคนไข้เปราะบาง ซึ่งท่านทำหน้าที่โดยสุจริตของท่าน ทางรพ.ขอขอบคุณอย่างมาก ที่ท่านแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ของเรา เพียงแต่ว่าในส่วนการถ่ายทำ ตามปกติแล้วจะมีเรื่องของสิทธิผู้ป่วย ซึ่งหากกระทำได้ต้องมีการขออนุญาตผู้ป่วยและทางรพ. ซึ่งเป็นวิธีการปกติตามกฎหมาย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ต้องออกจาก รพ. เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยของกรมการแพทย์ ที่ผู้ป่วยอยู่ครบ 7 วันแล้วก็สามารถกลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ โดยเฉพาะสถานการณ์เช่นนี้ เตียงมีความสำคัญมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ ก็เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยรายอื่นที่รอเตียงเข้ามา

“การปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ได้ปฏิบัติเฉพาะทีมของผู้ไลฟ์สด แต่เป็นการปฏิบัติตามปกติในการดูแลผู้ป่วย โดยในส่วนตัวผู้ที่ไลฟ์สดนั้นก็เป็นที่รักใคร่ของเจ้าหน้าที่ด้วย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง