ทรัมป์ชะลอภาษี 90 วัน รัฐบาลต้องเตรียมตัวเจรจาอย่างไร ? ในมุมมอง ดร.กิริฎา

หลังจากประกาศนโยบายให้เศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วน ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ ได้ขยายระยะภาษีศุลกากรไปอีก 90 วัน ให้ประเทศต่างๆ ได้มีเวลาเตรียมตัว และเจรจาเพื่อขอลดภาษี
และระยะเวลา 3 เดือนนี้ รัฐบาลควรเตรียมตัวเจรจาอย่างไร ต้องศึกษากรณีจากประเทศอื่นๆ แบบไหน ? TNN Online พูดคุยกับ ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผอ.วิจัย Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงระยะเวลาก่อนผ่อนปรนนี้ มุมมองข้อเสนอต่อสิ่งที่รัฐบาลควรต้องเตรียมตัว รวมไปถึงคนไทย ว่าต้องปรับตัวกันอย่างไร หากกำแพงภาษีนี้มีการปรับใช้ด้วย
“อันนี้เป็นวิธีการของทรัมป์แหละ เขาให้ทุกคน 90 วันเพื่อไปต่อรองกับเขา ซึ่งเขาจะดูอีกทีว่าเขาจะลดภาษีให้เราได้เท่าไหร่ ของเราตอนนี้เต็มที่ที่ 36% ดังนั้นที่เราต้องไปเจรจากับเขา คล้ายๆ กับที่ รองนายกฯ พิชัยบอกว่า วิธีเจรจากับเขาก็คือ เราจะนำเข้าสินค้าจากอเมริกาอะไรมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพราะนั่นเป็นฐานเสียงของทรัมป์ ก็พยายามเสนอตรงนั้น โดยเฉพาะสิ่งที่ความต้องการในประเทศ เราผลิตไม่เพียงพอ เราก็ต้องอันนั้นไปเสนอก่อน
อาจารย์ยังชี้ว่า สินค้าที่เราไปนำเสนอ ต้องมองในมุมว่าสิ่งนั้นดีต่อผู้บริโภคด้วย เพราะปกติแล้ว เราจะมองแต่ฝั่งผู้ผลิตว่าอาจเสียประโยชน์ มีคู่แข่งมากขึ้น อย่างเช่นกรณีเนื้อหมู ที่ตอนนี้ไทยมีการกีดกันการนำเข้า เป็นต้น “แต่เราก็คงต้องไปเจรจาเพิ่ม เพื่อเปิดให้สินค้าอเมริกาเข้ามาเยอะขึ้น และอะไรที่เป็นวินวิน เช่นถั่วเหลืองที่เรามีไม่พอ เราก็อาจจะนำเข้ามา และแปรรูปต่ออีกรอบ เพิ่มมูลค่า และส่งออกไปที่อื่นก็ได้”
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอย่างกาแฟ ที่เรามีโควต้าในประเทศ หรือข้าวโพด ที่อาจารย์มองว่าอาจจะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสหรัฐฯ ที่จะส่งออก และไทยที่จะนำเข้าเพิ่ม ให้เรามีวัตถุดิบมากขึ้น
แต่ไม่เพียงแค่เรื่องการนำเข้า หรือส่งออกเท่านั้น ดร. กิริฎายังมองว่าเราต้องศึกษาจากประเทศอื่นๆ และเตรียมการเจรจาด้วย
“อีกเรื่องนึงที่เขาน่าจะสนใจมากก็คือ เราเป็นฐานการผลิตของจีนหรือเปล่า จีนใช้เราเป็นฐานการผลิต หรือเป็นทางผ่าน สินค้าจีนเข้ามาเมืองไทยมาแต่งตัว แล้วส่งออกไป แล้วบอกว่าเป็นสินค้าไทย อันนี้เป็นสิ่งที่อเมริกาไม่โอเค นี่คือสิ่งที่เขาต่อว่าเวียดนาม และเวียดนามบอกจะลดภาษีให้เขาเป็น 0 ทุกอย่าง สหรัฐฯ ก็บอกว่าสิ่งที่เวียดนามกีดกันไม่ใช่ภาษี แต่คือการใช้โควต้า ใช้มาตรฐาน และอีกอย่างที่เขาต่อว่าเวียดนาม คือเวียดนามเป็นฐานการผลิตของจีน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเรียนรู้จากเวียดนาม เราต้องไปเจรจากับเขาว่าเราจะลดตรงนี้ลง และพยายามบอกเขาได้ว่า เราจะปราบปรามจีนที่สวมสิทธิ์”
“อีกประเด็นหนึ่งคือ ถ้าเป็นของที่ผลิตจากโรงงานจีน ที่อยู่ในไทย เราก็จะมี logo content คือเป็นของที่ชี้ว่ามีชิ้นส่วนว่าผลิตในประเทศไทยมีอยู่กี่เปอร์เซ็น เราต้องบอกเขาไป จะได้ให้สหรัฐฯ รู้สึกว่าไม่ใช่สินค้าจีน แต่มีของคนไทยอยู่ด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่เขาสนใจ ถ้าเราจะต้องเจรจาให้เขาลดภาษี” อาจารย์กล่าว
ถึงอย่างนั้นอาจารย์ก็มองว่า ตัวเลขภาษีนั้น ไม่มีทางย้อนกลับมาเท่าเดิมได้ นอกจากการเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลไทยต้องทำงานเพิ่ม ในการหาตลาดส่งออกอื่นๆ
“ช่วงนี้ เจรจายังไงภาษีก็ไม่ลงมาเท่าเดิม มันไม่กลับมาเหมือนเดิมอยู่แล้ว แล้วเจรจาของเราไม่ใช่แค่ดูแค่ภาษีที่เขาจะเก็บ แต่เราต้องดูคู่แข่งว่าเขาโดนเก็บเท่าไหร่ด้วย สมมติเราได้ลดจาก 36% ลงมา 30% แต่ถ้าเขาลดเวียดนามจาก 46% เหลือ 20% เราก็แพงกว่าเวียดนาม ก็จะแข่งขันลำบาก เพราะฉะนั้นต้องดูคู่แข่งเราเป็นยังไงด้วย ดังนั้นจึงไม่ง่าย ตรงนี้เราก็พยายามทำดีที่สุด ให้เขาลดให้เรามากที่สุด”
“แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องพึ่งตลาดอื่นด้วย พึ่งตลาดอเมริกาอย่างเดียวนั้นยาก ต้องเพิ่มสัดส่วนส่งออกไปประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย เพราะวันนี้เราส่งออกไปอเมริกา 18% ของทั้งหมด อีก 82% ส่งไปที่อื่น ในอนาคตมองว่า ถ้าสัดส่วนอเมริกาน้อยลง เราจะเพิ่มที่อื่นๆ เช่น EU เราจะมี FTA กับเขา หรือว่าแคนาดาที่เรามีการเจรจา FTA อยู่ เกาหลีใต้ หรือว่าตลาดใหญ่อันดับ 2 ที่เราส่งออก คือจีน ที่ 11% เราก็ทิ้งตลาดจีนไม่ได้ ตอนนี้เราก็มีการเจรจาอาเซียน FTA กับจีนแบบอัพเกรด
ดังนั้นเราก็ต้องเร่งทำ FTA ต่อ หาคู่ค้าใหม่ๆ มาทดแทนตลาดอเมริกา แต่ก็ยังมีหลายที่ที่เรายังอาจจะไม่ได้ดูอย่างเช่น ละตินอเมริกา แอฟริกา หรือตะวันออกกลางที่ก็มีโอกาส เพราะเราผูกมิตรกับซาอุดิอาระเบียแล้ว หรืออินเดีย ตลาดใหญ่ที่เรายังเจาะไม่เข้า เค้าก็กีดกันเยอะ แต่ในขณะเดียวกัน ในเวลา 90 วัน จะทำให้สำเร็จก็อาจจะยาก แต่เราต้องเริ่มเลย ในการหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ
สิ่งที่เราต้องทำคือ เจรจากับอเมริกา และพยายามหาพาร์ทเนอร์ใหม่ จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่า 90 วัน ทรัมป์ก็อาจจะเลื่อนอีกก็เป็นไปได้ แต่ ณ ตอนนี้ เราก็ต้องพยายามให้มากที่สุด แต่ก็ต้องดูคู่แข่งด้วย” อาจารย์สรุป
จากสถานการณ์ที่สหรัฐฯ การประกาศภาษีกับทั่วโลก จนหลายคนมองว่าเป็นสงครามการค้า โดยเฉพาะกับ สหรัฐฯ VS จีน อาจารย์กิริฎาก็ได้จัดระเบียบการค้าโลกเป็น 4 กลุ่ม
1.สหรัฐฯ เผชิญกับความโดดเดี่ยวมากกว่าประเทศอื่น
2.จีน และกลุ่มประเทศพันธมิตรของจีน
3.ยุโรป และประเทศพันธมิตร เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศในทวีปอเมริกาใต้
4. กลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อย่าง ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ที่สามารถค้าขายได้กับทุกประเทศ
ซึ่งแม้หลายคนมองว่า การขึ้นภาษีสุดโต่งของสหรัฐฯ จะทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องเลือกข้าง หรือถูกผลักไปหาจีนมากขึ้นนั้น แต่อาจารย์มองว่า ไทยไม่ควรเลือกข้าง หรือฝั่งฝ่ายฝ่ายใด
“เราไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด เพราะเราเป็นประเทศเล็ก เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าส่งออก เป็น top 5 ของโลกเลย ถ้าเราเลือกข้างปุ๊ป จะเป็นการปิดประตูของเราสำหรับกลุ่มอื่นๆ เราต้องพยายามค้าขายกับทุกกลุ่มให้ได้
จริงๆ เรื่องการเลือกข้าง ก็แล้วแต่ประเทศ แต่สำหรับไทยไม่จำเป็นต้องเลือก อีกหน่อยในอนาคต 4 ปีต่อจากนี้ไป อเมริกาอยากจะโดดเดี่ยว เขาไม่อยากซื้ออะไรจากเรา แต่ถ้าเรายังมีโอกาสในตลาดอเมริกา เราก็ต้องไม่ทิ้ง เพราะก็ยังมีความต้องการสินค้าไทยในตลาดอเมริกา หรืออาจจะเป็นเครื่องเพชร ที่อยู่ใน top 15 ที่เราส่งออกไปอเมริกาด้วย ถ้าเขาอยากได้ ทำไมเราจะไม่ขาย เราขายให้ทุกคน ขึ้นอยู่ว่าขายได้มากได้น้อย”
แต่ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่ต้องเตรียมตัว แต่ผลของนโยบายภาษีครั้งนี้ จะกระทบการนำเข้า ส่งออกของไทยแน่นอน ซึ่งเราได้สอบถามอาจารย์ว่า คนไทยต้องเตรียมตัว และทำความเข้าใจอย่างไร เพื่อปรับตัวเพื่อรอดจากวิกฤตครั้งนี้
“ถ้าเราอยู่ในธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการส่งออก หรือเราเป็น supply chainให้กับสินค้าที่ส่งออก ก็ต้องเตรียมตัว เพราะว่าเราอาจจะส่งออกได้น้อยลง กระทบกับรายได้เราแล้ว หรือถ้าเป็นลูกจ้างในธุรกิจนั้นก็ต้องเตรียมพร้อม หากธุรกิจนั้นซบเซาลง อันนั้นก็ประเด็นนึง
เรื่องที่สองคือ มันเป็นเรื่องของการนำเข้าด้วย เพราะถ้าโลกกีดกัน ก็จะมีสินค้านำเข้าเข้าไทยมากขึ้น เพราะไม่ว่าจีนเอง หรือ ประเทศอื่นๆ เขาก็จะมาขายของให้ไทยมากขึ้น แล้วเขาอาจจะลดราคา ซึ่งไทยก็อาจจะอยากซื้อของเหล่านั้น เขาอาจจะขายได้ เมื่อมีคนซื้อ แสดงว่าคนไทยอาจจะอยากซื้อของจากจีน หรือเหล็กจากเกาหลีใต้ ที่โดนภาษี 25% แล้ว เหล็กเขาคุณภาพดี ราคาไม่แพงเท่าบ้านเรา มันก็จะเห็นได้ว่า มันจะมีสินค้าที่ต้องตาต้องใจมากขึ้น และเราอาจจะอยากนำเข้ามา เพราะฉะนั้นผู้ที่ผลิตสินค้านั้นๆ ที่แข่งโดยตรง ที่แข่งกับสินค้าจีน หรือสินค้าที่จะนำเข้าเพิ่ม ก็จะต้องปรับตัว ไม่งั้นจะอยู่ไม่ได้ เพราะเขาขายได้ถูกกว่าเรา ต้นทุนเขาถูกกว่าเรา อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องปรับตัว
แต่ในขณะเดียวกัน เหรียญมีสองด้าน ดังนั้นสินค้าที่นำเข้ามาก็อาจจะถูกลง ก็จะดีกับคนที่ใช้สินค้านั้นที่เอาไปต่อยอดผลิตสินค้าอื่น เพราะอย่างสินค้าจีนที่เรานำเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วน อุปกรณ์เครื่องจักร ฉะนั้นก็มีธุรกิจไทยที่ได้ประโยชน์ เพราะต้องยอมรับว่า วัตถุดิบ ชิ้นส่วน เครื่องจักรจากจีน คุณภาพดีกว่าทางตะวันตก เราจึงเห็นมันเข้ามาเยอะ เยอะกว่ารองเท้า เสื้อผ้า ของใช้ประจำวันมากเป็นสองเท่า แปลว่าคนนำเข้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจไทย หรือธุรกิจจีนที่อยู่ในเมืองไทย
ดังนั้นเทรนด์นี้จะมีมากขึ้น เพราะยิ่งธุรกิจจีนมาตั้งในไทยมากขึ้น เขาจะนำเข้าของจากจีนมากขึ้น ซึ่งเทรนด์นี้ก็มาประมาณ 4 ปีแล้ว ในอนาคต มันคงมีของจากจีน หรือประเทศอื่นๆ มากขึ้น เพราะมีความต้องการในประเทศไทย ดังนั้นคนที่ได้ประโยชน์ก็ได้ไป แต่ผู้ที่ผลิตสินค้าเดียวกัน กับจีน หรือเกาหลีใต้ หรือประเทศที่จะนำเข้ามา ก็ต้องปรับตัว เอาของนั้นๆ มาเป็นวัตถุดิบ แล้วต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้น่าจะดีกว่าไปแข่งกับเขาโดยตรง”
“ทางบวก เราก็ได้ของที่ถูกลง คุณภาพโอเค แต่ถ้าเราอยู่ในธุรกิจ หรือ Supply Chain ที่แข่งโดยตรงกับสินค้านั้นก็จะลำบาก ต้องเตรียมตัว” นี่คือข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์
สำหรับเรื่องการปรับตัวนั้น อาจารย์ได้ยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพมากขึ้นด้วย
“ขอยกตัวอย่าง เพื่อนของอาจารย์ทำแวร์เฮาส์ สมัยก่อนเขาให้ปิโตรเคมีไทยเช่าเพื่อเก็บสารเคมี แต่พอมาวันนี้ จาก 100% เหลือเช่าเพียงแค่ 20% เพราะธุรกิจปิโตรเคมีไทยไปไม่ไหว ไม่มาเช่าเขา เขาก็เป็น Supply Chain ของปิโตรเคมี เขาก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนให้โรงงานจีนมาเช่า มาทำโรงงาน เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) เราอาจจะไม่ได้ทำสินค้านั้น แต่เราเป็น Supply chain ของอันนั้นก็จะโดนกระทบ
แต่ก็เป็นอีกด้านในเรื่องบวก ที่เคยมีผู้ผลิตจากที่ผลิตเหล็ก พอเขารู้ว่าเหล็กที่เขาผลิตแข่งกับจีนไม่ไหว เขาก็เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตที่เป็น Solution ให้กับลูกค้าแทน คือเอาเหล็กจากจีน เอามาทำ Solution โดยการถามลูกค้าว่า อยากได้โกดังเก็บของแบบนี้ ก็จะสร้างให้เลย โดยที่จะดีไซน์ และสร้างให้
นี่คือการเพิ่มดีไซน์ และเพิ่มเซอร์วิส ภาคบริการเข้าไป ซึ่งลดต้นทุนไปได้เยอะ จากที่เขาผลิตเอง ดังนั้นมันมีวิธีปรับตัว เพราะต้องยอมรับว่าจีนเขาไม่เก่งอะไรที่เป็นเซอร์วิส หรืองานสั่งทำพิเศษ เขาจะผลิตจำนวนมาก แล้วราคาถูก ดังนั้นเราต้องเอาจุดแข็งของเขา บวกกับจุดแข็งของเรา”