นักวิจัยพบวัคซีน "ใบยา" สามารถสร้างภูมิป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้
วันนี้ (18 ก.ค.64) วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ สปีชีส์ “N. benthamiana” ผลงานวิจัยจากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งผู้คิดค้นนวัตกรรมเป็นอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังพัฒนาวัคซีนขึ้นในประเทศไทย เพื่อใช้ป้องกันการระบาดของโควิด-19
ภก.กิตตินพ กิตติโรจน์รุจิ เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ และฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน ว่าปัจจุบันมีการนำวัคซีนดังกล่าวไปทดลองฉีดในสัตว์ทดลอง 2 ชนิด ได้แก่ หนูขาวและลิง ซึ่งในขั้นตอนของการทดลองในสัตว์ทดลองนั้นเสร็จสิ้นแล้ว พบว่าผลที่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ วัคซีนจากพืชสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิดได้ในปริมาณสูง และพบว่ามีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย รวมถึงพบว่าวัคซีนเข็มที่ 3 ที่ได้มีการฉีดให้กับลิงนั้นเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ เช่น สายพันธุ์เดลต้า ที่กำลังระบาดในปัจจุบัน
ทั้งนี้ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. เพื่อทำการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบันนั้นได้รับการอนุญาตจาก อย. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเข้าสู่กระบวนการทดสอบในมนุษย์ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.2564 นี้
สำหรับวัคซีนต้นแบบชนิดแรก “Baiya SARS–CoV–2 Vax 1” ได้นำไปฉีดในสัตว์ทดลองและดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยจะเปิดรับอาสาสมัครในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งหากผลการวิจัยผ่านการทดสอบและขึ้นทะเบียนกับ อย.เรียบร้อย ก็จะสามารถผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรมได้จำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน และพร้อมฉีดให้กับประชาชนได้ในช่วงต้นปีหน้า