กรมชลประทานคุมเข้มแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังปี พร้อมจัดสรรน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
กรมชลประทาน ขานรับ กอนช.ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(7 ม.ค. 65) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 57,117 ล้าน ลบ.ม. (75% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 33,187 ล้าน ลบ.ม. (64% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะ4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,858 ล้านลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ7,162 ล้าน ลบ.ม. (39% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง(1 พ.ย. 64 – 30 เม.ย. 65) ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว7,762 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 14,518 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,864 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 3,836 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่พร้อมจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรม โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง เป็นอันดับแรก และน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศตามลำดับ ส่วนหนึ่งจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม 2565 ด้านการเกษตรกรรมได้จัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม
สำหรับการดำเนินการตามมาตรการที่ 5 (วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง) ตามข้อสั่งการพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ นั้น ปัจจุบันกรมชลประทานได้วางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น6.41 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการเพาะปลูก ข้าวนาปรัง2.81 ล้านไร่ จนถึงขณะนี้(7 ม.ค. 65) มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว4.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.16 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้ว 2.80 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ99.68 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กับเกษตรกรได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(7 ม.ค. 65 เวลา06.00น) ที่สถานีประปาสำแล วัดค่าความเค็มได้ 0.25 อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง (มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ยังไม่กระทบต่อสถานีสูบน้ำดิบสำแล ของการประปานครหลวง ด้านแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังควบคุมคุณภาพน้ำ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง (6 -10 ม.ค. 65)
กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำ ด้วยความประณีตและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม