รีเซต

สินค้าจีน "ทะลัก" ตลาด E-Commerce ไทย

สินค้าจีน "ทะลัก" ตลาด E-Commerce ไทย
TNN ช่อง16
7 กันยายน 2563 ( 14:41 )
1.1K
สินค้าจีน "ทะลัก" ตลาด E-Commerce ไทย

ก่อนอื่น พาคุณผู้ชมไปดูสัดส่วน E-Commerce เมื่อเทียบกับ ปริมาณการค้าปลีกของทั่วโลก ไล่จากซ้ายไปขวา ซีกโลกตะวันตก อย่างสหรัฐฯ มีสัดส่วน E-Commerce อยู่ที่ 15% ยุโรป มีสัดส่วน E-Commerce 19% ข้ามมาทางเอเชีย สูงสุด คือ ประเทศจีน 24% รองลงมา เกาหลีใต้ 19% ญี่ปุ่น 9% ขณะที่ อินเดีย มีสัดส่วน 4% และไทยยังน้อยอยู่ที่ 2% ดูจากสัดส่วนแล้ว ใกล้เคียงกับประเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก ขณะที่ ประเทศเพื่อบ้าน ที่สำคัญอย่างเวียดนาม อยู่ที่ 1% นี่เป็นการเทียบสัดส่วนก่อนโควิด-19 หรือ ปี 2019 เพื่อให้เห็นภาพรวม E-Commerce  ของโลก 


ขณะที่ เทียบมูลค่า E-Commerce ในประเทศไทย ก่อนและหลังโควิด-19 จะมีการเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรือที่เราคุ้นกันในนามสมาคม E-Commerce ไทย คาดการณ์ตลาด E-Commerce ของไทย ปี 2020 ปีที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ตลาด E-Commerce โต 35% มีมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท (*นับเฉพาะสินค้าในตลาดผู้บริโภค B to C และ C to C) เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 


เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้นขนาดนี้ แน่นอน ผู้ประกอบการให้ความสนใจหันมาใช้ช่องทางการค้าแบบออนไลน์ หรือ  E-Commerce มากขึ้น ต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการออนไลน์ส่วนใหญ่ 80-90% ไม่ได้มีการลงทะเบียนการค้าเอาไว้กับกระทรวงพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ทำให้ไม่สามารถเก็บสถิติได้ แต่จากการประเมินเบื้องต้น ของสมาคม E-Commerce ไทย คาดว่า ปี 2020 ผู้ประกอบการ E-Commerce ไทย จะสูงถึง 1 ล้านราย จากปี 2019 ที่อยู่ระดับ 5 แสนราย เท่ากับเพิ่มขึ้น 100% 


จากข้อมูลในปี 2019 ช่องทางยอดฮิต ที่ผู้ประกอบการ E-Commerce ไทย ใช้ และแน่นอนประสบความสำเร็จ มาเป็นอันดับ 1 คือ E-Market Place ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล และ We Mall ถึง 47% รองลงมา คือ  ช่องทาง Social Media ทั้งเฟสบุค อินสตาแกรม ไลน์ และทวิตเตอร์ ถึง 38% และสุดท้ายเป็นการขายผ่านเว็บไซต์ของผู้ประกอบการเอง 15% 

สิ่งที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงช่องทางในการขาย ที่ผู้ซื้อให้ความสนใจ น้อยลงอย่างมาก คือ เว็บไซต์ ของผู้ประกอบการเอง ซึ่งปี 2018 ยังมีสัดส่วน 25% ภายในปีเดียว มีสัดส่วนในการประสบความสำเร็จในการขายผ่านเว็บไซต์ตนเองลดน้อยลงถึง 10% ซึ่งส่วนที่เหลือ เป็นของรายใหญ่ 

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย แนะนำให้ผู้ประกอบการ E-Commerce ให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายทุกช่องทาง เนื่องจาก ช่องทาง Market Place จะเป็นช่องทางที่เป็นแหล่งรวบรวมโปรโมชั่น ซึ่งถูกจริตกับคนไทยมากที่สุด จึงได้รับการตอบรับสูงสุดในขณะนี้ 

ขณะที่ ช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย เป็นช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าง่ายที่สุด และเว็บไซต์ของผู้ประกอบการเอง แม้จะเป็นช่องทางที่ดูจะประสบผลสำเร็จในการขายน้อยที่สุด และมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ แต่เป็นเหมือนหน้าร้านของเรา ที่ต้องมีเอาไว้ เพื่อการติดต่อ สื่อสารกับลูกค้า 


ช่องทาง Social Commerce เป็นหนึ่งในช่องทางที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเข้าผู้บริโภคได้ดีที่สุด คนไทย 67 ล้านคน มีการใช้งาน Social Commerce มากถึง 97% เป็นกลุ่มแอพริเคชั่นที่คนไทยใช้มากที่สุด และใช้อินเตอร์เน็ต เป็นอันดับ 5 ของโลก หรือ 9 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 23 นาที ต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณการใช้โมบายอินเตอร์เน็ต ยังเป็นอันดับ 2 ของโลก 1 วัน ใช้ 4 ชั่วโมง 57 นาที ขณะที่ ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 22 นาที 


ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงทำการตลาดผ่าน Social Commerce เพราะเชื่อว่า เข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และในปี 2018 การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางนี้ มากที่สุด ถึง 40% ปีนี้ลดลงมาเหลือ 38% และถูกช่องทาง E-Market Place แซงหน้า เพราะจำนวนสินค้าที่มากกว่า และโปรโมชั่นที่รุนแรง 


จะเห็นภาพการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ไทย แต่ผู้ประกอบการไทย ไม่ได้เผชิญการแข่งขันในประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว เห็นได้จากการขายผ่าน E-Market Place ส่วนใหญ่ จะพบสินค้าข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีนจำนวนมาก ซึ่งมีราคาถูกกว่าสินค้าในประเทศ แต่ที่ผ่านมา ยังต้องรอระยะเวลาจัดส่งนาน แต่ในอนาคตอันใกล้ เมื่อศูนย์กระจายสินค้า ในพื้นที่ EEC Free Trade Zone สำเร็จ สินค้าจากจีนจะน่ากลัวมากขึ้น เพราะไม่ต้องรอสินค้านาน และไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากมีการนำสินค้าเข้ามาสต็อคจำนวนมาก แล้วนำออกมาเฉพาะจำนวนที่สั่ง ไม่เกิน 1,500 บาท ไม่เสียภาษี


เราพาไปดูกราฟฟิกนี้ จะแสดงให้เห็นภาพสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทย ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2019 ดูจากภาพจะเห็นว่า สินค้าต่างประเทศมากกว่าสินค้าในประเทศแล้ว ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการไทย ผันตัวเป็นพ่อค้า แม้ค้าคนกลาง ซื้อมาขายไป ทำให้สินค้าจากตลาดจีนมีมากขึ้นเรื่อยๆ สินค้าจีนที่กดดันตลาดไทยมาก นำมาโดย กลุ่มเสื้อผ้าผู้ชาย กลุ่มมือถือและอุปกรณ์ กลุ่มกีฬาและกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเกมส์และงานอดิเรก กลุ่มเสื้อผ้าผู้หญิง และกลุ่มแฟชั่น จะเห็นว่ามีสินค้าไทยค่อนข้างน้อย และสินค้าจีนกว่า 70-80% 

ส่วนกลุ่มที่ตรงกันข้าม สินค้าไทยยังคงทำได้ดี คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสุขภาพ ขายตั๋วหนัง และกลุ่มเสริมความงาม พวกนี้ สินค้าไทยยังมีสัดส่วนในตลาดค่อนข้างมาก 


ดังนั้น ผู้ประกอบการ E-Commerce ไทย ไม่สามารถเอาอะไรมาขายบนโลกออนไลน์ได้ ต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ทำให้ราคาต่ำกว่า ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการ E-Commerce ไทย น่าสนใจ ไม่ได้แนะนำให้สู้เรื่องราคา แต่แนะนำให้สู้เรื่องอัตลักษณ์ของตัวสินค้า ต้องแตกต่าง ไม่ซ้ำซ้อนใคร และคุณภาพต้องดี เชื่อว่าจะหาช่องทางได้ สำหรับลูกค้าที่ต้องการสินค้าคุณภาพ 

ข้อที่ 2 หลายคนเข้าใจผิดว่า การขายสินค้าออนไลน์ เป็นไม่ใช่ธุรกิจบริการ แต่สมาคม E-Commerce ไทย แนะนำว่า การตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เป็นตัวสินค้าครึ่งหนึ่ง และบริการครึ่งหนึ่ง ดังนั้น บริการที่ควรจะมี คือ ส่งด่วน ส่งฟรี / รับประกันคุณภาพสินค้า, เปลี่ยนสินค้า และบริการเก็บเงินปลายทาง เป็นต้น และข้อที่ 3 ช่องทางการขาย ที่ครอบครุม เช่น ทั้ง 3 ช่องทางที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ช่องทาง Social Media ทั้ง เฟสบุค อินสตาแกรม และไลน์ เป็นต้น ช่องทาง E-Market Place ที่ควรจะมี หลายช่องทาง และเว็บไซต์ของตัวเอง 


คุณผู้ชมจะเห็น บรรยากาศในธุรกิจ E-Commerce เติบโต 35% ในปีนี้ แน่นอนคึกคัก และเทรนการเติบโตอยู่ในรูปแบบไหน สำหรับผู้ประกอบการควรจะปรับตัวอย่างไร เพื่อรับมือ เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็ว หากเราปรับตัวทันจะไม่พลาดโอกาสสำหรับธุรกิจแห่งอนาคต ส่วนผู้ซื้อเอง เป็นกลุ่มที่ได้ปรับโยชน์สูงสุดจากการแข่งขัน เพราะได้สินค้า และบริการคุณภาพจากผู้ประกอบการที่ปรับตัวให้มีศักยภาพในธุรกิจ E-Commerce ไทยนี้ 

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน สินค้าจีน "ทะลัก"   ตลาด E-Commerce ไทย 

ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=8z3tJyUn4Zo


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง