ไขปริศนาชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ ด้วยแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวาเลนเซีย (University of Valencia), สถาบันเคมีกายภาพโรคาโซลาโน (Rocasolano Institute of Physical Chemistry) และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ในการไขปริศนาชั้นบรรยากาศที่ซับซ้อนของดาวศุกร์
ดาวศุกร์เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่ส่องสว่างให้เห็นบนท้องฟ้าในตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตก เรียกว่าดาวประจำเมือง หรือเห็นในตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออก เรียกว่าดาวประกายพรึก หรือดาวรุ่ง เนื่องจากดาวศุกร์ปกคลุมไปด้วยเมฆหนาที่ประกอบด้วยกรดซัลฟิวริกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมฆเหล่านี้สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี ทำให้เป็นวัตถุที่สว่างที่สุดในท้องฟ้าหลังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
แต่ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งยานอวกาศและหอสังเกตการณ์บนพื้นโลกยังตรวจพบตัวดูดซับแสงอัลตราไวโอเลต หรือยูวี (UV) ที่ไม่รู้จักในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์อีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์จึงใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ในการจำลองชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ขึ้นมา พบว่าแสงแดดจากดวงอาทิตย์ไปทำปฎิกิริยากับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ทำให้เกิดซัลเฟอร์มอนอกไซด์ (SO) และไดซัลเฟอร์มอนอกไซด์ (S2O) ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับแสงอัลตราไวโอเลต
ซึ่งวิธีการจำลองดังกล่าวมีประโยชน์มากในบริบทนี้ เนื่องจากการทำงานกับสารเคมีและสารประกอบที่พบในบรรยากาศดาวศุกร์ เช่น ซัลเฟอร์ หรือกำมะถัน, คลอรีน และออกซิเจนอาจทำได้ยากและบางครั้งก็เป็นอันตราย
“เป็นครั้งแรกที่เราใช้เทคนิคการคำนวณทางเคมีเพื่อกำหนดปฏิกิริยาที่สำคัญที่สุด แทนที่จะรอให้การวัดในห้องปฏิบัติการเสร็จสิ้นหรือใช้การประมาณอัตราการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่ได้ศึกษาอย่างไม่ถูกต้อง” - เจมส์ ไลออนส์ (James Lyons) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ (Planetary Science Institute) กล่าว
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการสรุปอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าตัวดูดซับรังสียูวีในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์คืออะไรกันแน่ แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าซัลเฟอร์อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ดูดซับรังสียูวีได้ดี
ข้อมูลจาก www.space.com
ภาพจาก www.nasa.gov