ความหวังใหม่ ? หยุดล่า “ช้าง” ผิดกฎหมาย พบวิธีตรวจสอบงาช้าง แยกสายพันธุ์ได้แล้ว
รู้หรือไม่ ? งาช้างแมมมอธที่ถูกขุดค้นพบในปัจจุบัน หากดำเนินขั้นตอนอย่างถูกวิธี สามารถนำเอามาค้าขายต่อได้โดย “ไม่ผิดกฎหมาย” แตกต่างจากการครอบครองงาช้างทั่วไป ถ้าไม่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมา หรือได้มาจากช้างเลี้ยงที่ตายลงโดยธรรมชาติ (ต้องเลี้ยงแบบขอใบอนุญาตครอบครองด้วย) ล้วนแล้วแต่ “ผิดกฎหมาย” ทั้งสิ้น
ปัญหาก็คือ เนื่องจากการค้างาช้างแมมมอธนั้นทำได้ง่ายกว่างาช้างทั่วไป ก่อให้เกิดการปลอมแปลงเอางาช้างทั่วไป มาแปลงรูปใหม่ และขายมันในรูปแบบของงาช้างแมมมอธ ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะสามารถตรวจสอบงาช้างเหล่านี้ได้ ว่าเป็นของช้างสายพันธุ์ไหน โดยที่ไม่สร้างผลกระทบต่อตัวสินค้า
ล่าสุดทางมหาวิทยาลัย University of Bristol ในสหราชอาณาจักร นำโดย ดร. รีเบคก้า เชพเพิร์ด ค้นพบเทคนิคในการตรวจสอบงาช้างเหล่านี้ได้แล้ว โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที และไม่ส่งผลกระทบต่อตัวสินค้าใด ๆ
เทคนิคดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “Raman spectroscopy” หรือการฉายแสงเลเซอร์สีเดียวลงบนตัววัตถุ เพื่อให้โมเลกุลในวัตถุนั้นสั่นสะเทือน ซึ่งชนิดของวัตถุที่แตกต่างกัน จะก่อให้เกิดรูปแบบการกระจายตัวของแสงบนวัตถุ ที่แตกต่างกันออกมา ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าในวัตถุนั้น มีสสารอะไรอยู่บ้าง
จากการทดสอบล่าสุด ทางทีมนักวิจัยได้ลองเอางาของช้างแมมมอธ และงาช้างทั่วไปที่ได้มาจากพิพิธภัณฑ์ Natural History Museum ในลอนดอนมาสแกนโดยใช้เทคนิคดังกล่าว เพียงไม่กี่นาทีหลังการสแกน พวกเขาสามารถตรวจจับความแตกต่างทางชีวเคมีเล็ก ๆ ที่อยู่บนงาช้างทั้งสองชนิด ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อแยกชนิดของช้างที่เป็นเจ้าของงานั้น ๆ ต่อไปได้
ดร. รีเบคก้าเชื่อว่า หากสามารถนำเทคนิคนี้มาใช้งานอย่างเป็นทางการได้ และติดตั้งไว้ที่ด่านศุลกรกร จะเพิ่มอัตราการตรวจจับงาช้างผิดกฎหมายได้มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้การลักลอบล่าสัตว์ลดลงไปด้วยตามลำดับ
บทความนี้ได้รับการตีพิมม์ลงในวารสารของ PLOS ONE ใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียด ๆ แบบเต็ม ๆ ได้จากลิงก์นี้ค่ะ >> https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0299689