"ไอพีซีซี" ชี้ภาวะโลกร้อนจะทำเศรษฐกิจโลก-เอเชียเสียหายหนัก กลางศตวรรษนี้
เอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนนี้ว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านภูมิอากาศให้กับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้จัดเตรียมร่างรายงานพิเศษว่าด้วยภาวะโลกร้อน ที่แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าที่คิดกันไว้แต่เดิมมาก
ร่างรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ภายในปี 2050 กลางศตวรรษนี้ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของโลก และชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา จากภาวะภูมิอากาศสุดโต่ง อาทิ ไซโคลน, แล้งจัด, น้ำท่วม โดยภาวะน้ำท่วมจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับทั้งโลกระหว่าง 50,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 350,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และหากสถานการณ์ตกสู่สภาพเลวร้ายที่สุด คือ อุณหภูมิโลกเพิ่มจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 4 องศาเซลเซียส ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของโลกจะลดลงระหว่าง 10-23 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับโลกที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศใดๆ
ไอพีซีซี คาดว่า 136 เมืองริมชายฝั่งทะเลของโลกจะได้รับความเสียหายรวมแล้วราว 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2050 จากปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลคุกคามทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคาดว่า ทั่วทั้งเอเชียจะประสบความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 170,000 ล้านดอลลาร์ ในกรณีที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 50 เซนติเมตร โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับจีน ทั้งนี้ ไอพีซีซี ประเมินว่า ในปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน 1.1 เมตร
ที่บังกลาเทศ ทางการอาจจำเป็นต้องย้ายที่ตั้งโรงไฟฟ้าราว 1 ใน 3 ของประเทศภายในปี 2030 อันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนออสเตรเลียคาดว่าจะเกิดปัญหากับอุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตภาพแรงงานด้านการเกษตร คิดเป็นมูลค่าเกินกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2030 และสูงถึง 159,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2050