รีเซต

'แม่หมอกระต่าย' ยื่น กมธ.สภาฯ สอบ หลังเหตุ 'บิ๊กไบค์' ชนลูกสาว ตรงทางม้าลาย

'แม่หมอกระต่าย' ยื่น กมธ.สภาฯ สอบ หลังเหตุ 'บิ๊กไบค์' ชนลูกสาว ตรงทางม้าลาย
ข่าวสด
3 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:45 )
74

“แม่หมอกระต่าย” ยื่น กมธ.กฎหมาย ของสภาผู้แทนราษฎร สอบข้อเท็จจริงปมลูกสาวถูก "บิ๊กไบค์" ของ จนท.ตำรวจรายหนึ่ง ชนบนทางม้าลาย พร้อมขอความเป็นธรรมไม่ให้ลูกตายฟรี

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.พ. ที่รัฐสภา นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล มารดาของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย พร้อมด้วย นายณัฐพล ชิณะวงศ์ ทนายความ เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษร เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่พญ.วราลัคน์ ถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนที่ทางม้าลายจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนกมธ.มารับหนังสือ

 

 

นางรัชนี กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ตนพูดค่อนข้างยากแต่ความรู้สึกคือ ลูกสาวของตนไม่ได้ข้ามถนนด้วยความประมาท หลายคนอาจจะมองว่าเวลาเกิดปัญหาแบบนี้ เป็นการโยนความผิดให้ผู้ใช้ถนน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการจากไปที่ไม่มีโอกาสได้ป้องกันตนเอง ไม่มีโอกาสได้รักษา เพราะหากขับรถมาเบากว่านี้ก็อาจจะเป็นแค่การรักษาแต่นี่ไม่เลย ทำให้ลูกสาวของตนเสียชีวิตคาที่ สิ่งนี้ทำให้ตนรับไม่ได้

 

 

จึงขอให้ประชาชนทุกคนช่วยให้กำลังใจ ให้ความเป็นธรรม และหน่วยงานต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบด้วย เนื่องจากตนไม่อยากให้ลูกสาวตายฟรี และตนก็รู้สึกเป็นห่วงลูกสาวอีกคนที่มีลูกน้อยที่ยังมีความหวาดกลัวไม่กล้าข้ามถนน จึงอยากให้สังคมพัฒนาและเปลี่ยนแปลง จึงมาขอความกรุณาจากรัฐสภาแห่งนี้ ช่วยชี้นำสังคมให้ร่วมกันพัฒนาประเทศและอย่าให้คดีนี้เป็นเหมือนคดีอื่นๆ ที่มันหายไป โดยไม่ส่งผลดีต่อประเทศ ลูกสาวของตนที่เสียชีวิตไปจะได้ภาคภูมิใจและเป็นแบบอย่างให้กับน้องและคนอื่นๆ ด้วย

 

ด้านนายณัฐพล กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่การร้องเรียน แต่อยากให้กมธ.กฎหมายฯ ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงคู่ขนานอีกทางหนึ่ง เนื่องจากผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงอยากให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความรอบคอบและละเอียด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นการเชื่อใจตำรวจ แต่เราอยากให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนี้มีความละเอียด การสูญเสียครั้งนี้ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวและประเทศ

 

เนื่องจาก พญ.วราลัคน์เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคม โดยประเด็นที่ครอบครัวรู้สึกคาใจอยู่คือเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะจุดที่เกิดเหตุเป็นทางม้าลายแต่กลับมีรถวิ่งเร็วมาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีการทำลูกคลื่นหรือสัญลักษณ์ต่างๆ แล้ว จึงเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ทั้งนี้เรื่องการจำกัดความเร็วมีการบอกว่าผู้ก่อเหตุได้ใช้ความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรหรือไม่ ทั้งที่จุดตรงนั้นเป็นแหล่งชุมชนและใกล้โรงพยาบาล เป็นการใช้ความเร็วเกินไปหรือไม่

เพราะเมื่อปี 2564 มีการออกกฎกระทรวงโดยนายกรัฐมนตรีเรื่องการจำกัดความเร็ว ถามว่ามันครอบคลุมแล้วหรือ เพราะจุดตรงนั้นควรจะใช้ความเร็วได้ 20-30 กม. อีกทั้งนักวิชาการต่างๆ ก็คงจะบอกได้ว่าหากรถใช้ความเร็วเกิน 80 กม. ชนคนจะเท่ากับคนตกตึกกี่ชั้น จึงอยากฝากให้กมธ.กฏหมายฯ ช่วยดูว่ากฎหมายลำดับรองเพียงพอแล้วหรือยัง การบังคับใช้กฎหมายมีอะไรบ้าง

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ. กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว พญ.วราลัคน์ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสะเทือนใจ ซึ่ง กมธ.กฎหมายฯจะให้ความสำคัญอย่างแน่นอน เพราะในกรณีนี้มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้การเดินทางเท้าและการข้ามถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น

ซึ่งในระยะหลังมีการตื่นตัวในเรื่องนี้แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งต้องเข้าไปปรับปรุงแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งหลังจากนี้กมธ.จะไปพูดคุยร่วมกันและหารือกันว่าจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใด อาทิ กรมการขนส่งทางบก สตช. กรุงเทพมหานคร รวมถึงบุคคลอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าครอบครัวจะได้รับความเป็นธรรมและมาร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาบ้าง ป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง