จับตาหุ้นจะผันผวนขึ้น หลังกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ, เปิดโผ 7 หุ้นต้องระวัง
ทันหุ้น-สู้โควิด : 3 โบรกเกอร์มองกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ประกาศกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ และปรับซิลลิ่ง-ฟลอร์เป็น 30% เท่ากับช่วงก่อนจะเกิดเหตุการณ์โควิด โดยจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นั้น ประเมินว่าจะทำให้ตลาดหุ้นกลับมาผันผวนมากขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่ามูลค่าการทำชอร์ตเซลจะปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1 พันล้านบาทต่อวัน พร้อมแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังในหุ้น 7 ตัวที่จะถูกชอร์ตเซล
บล.ดีบีเเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ระบุว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ ประกาศกลับไปใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ และปรับซิลลิ่ง-ฟลอร์เป็น 30% เท่ากับช่วงก่อนโควิด หลังจากเห็นว่าตลาดหุ้นไทยทรงตัวได้ คาดว่าปริมาณและมูลค่าการทำชอร์ตเซลเพิ่มขึ้น ทั้งจากสภาพคล่องที่มากขึ้นและ Valuation ตลาดหุ้นไทยที่สูง (Forward P/E ปี 2563 อยู่ที่ 24 เท่า และปี 2564 ประมาณ 18 เท่ากว่า) รวมถึงมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ เช่น การกลับไป
Lockdown รอบใหม่หลังโควิด-19 ยังระบาดมากในหลายประเทศ, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน, การเมืองไทยที่อาจมีการชุมนุมยืดเยื้อ ฯลฯ ตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นในต้นไตรมาส 4/63
บล.ทรีนีตี้ มองว่า หลังจากยกเลิกมาตรการตั้งแต่ไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป จะทำให้มูลค่าการชอร์ตเซลปรับสูงขึ้นกว่าระดับ 1 พันล้านบาทต่อวันได้ ซึ่งจะทำให้ ดัชนีมีโอกาสผันผวนในทางลงสูงขึ้น ส่วนประเด็น Ceiling & Floor ที่จะหันกลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่ 30% นั้น มองไม่มีผลกระทบต่อดัชนี เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นขนาดกลาง-เล็กผันผวนมากขึ้นมากกว่า ซึ่งหุ้นเหล่านี้ไม่ได้มีน้ำหนักที่จะถ่วงดัชนีแต่อย่างใด
หากตรวจสอบย้อนกลับไปในช่วงต้นปีก่อนหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ จะมีการบังคับใช้มาตรการ Uptick rule นั้น จะพบว่าหุ้นที่อยู่ในเรดาร์การชอร์ตเซลของนักลงทุนส่วนใหญ่นั้น จะกระจัดกระจายไปตามกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรายชื่อบริษัทที่มียอดชอร์ตเซลสูงที่สุดในแง่ของ % ของวอลุ่มการซื้อขายทั้งหมดในช่วงวันที่ 1 ม.ค. - 13 มี.ค. นั้นจะได้แก่ PTTGC-R, TRUE-R, THAI, ADVANC, KBANK, SCB-R, PTT, GULF, EA-R, BGRIM, PTTEP, TMB, TOP-R, KTB, BANPU, AOT, IVL, ADVANC-R, GULF-R, SCC
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์เจาะลึกมากขึ้นไปอีก โดยดูว่าหลังการบังคับใช้มาตรการ Uptick rule ในวันที่ 13 มี.ค.ไปแล้ว หุ้นตัวใดใน 20 ตัวนี้ที่มีสัดส่วนการชอร์ตเซลหายไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่ามักเป็นหุ้นที่การชอร์ตเซลนั้นเกิดขึ้นโดยการเคาะซ้าย (Zero tick) เป็นสำคัญ ก็จะพบว่ามีตัวหุ้นที่เข้าข่ายระมัดระวังอย่างสูง ได้แก่ PTTGC-R, TRUE-R, SCB-R, EA-R, TOP-R, ADVANC-R, GULF-R
บล.ไอร่า คาดว่าการกลับมาใช้เกณฑ์ Short-Sell และ Ceiling-Floor 30% ตามปกติ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้ คาดจะเป็นปัจจัยสร้างความผันผวนรวมทั้งกดดัน-จำกัดการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยให้อ่อนตัวลงได้อีกครั้ง