สหรัฐ-โอเปกเปิดศึกราคาน้ำมัน
สำนักข่าวรอยเตอร์และบลูมเบิร์กรายงานว่า แหล่งข่าวในทำเนียบขาวซึ่งทำงานใกล้ชิดเพื่อการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เตรียมประกาศเริ่มต้นโครงการปล่อยน้ำมันดิบในคลังปิโตรเลียมสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (เอสพีอาร์) ออกสู่ตลาด พร้อมกับ 4 ชาติในเอเชียที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่ เพื่อดึงราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ลดลงสู่ระดับที่ต้องการในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ (คืนวันเดียวกันตามเวลาไทย) หลังผ่านการเจรจาและเตรียมการมานานหลายสัปดาห์
แหล่งข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า การปล่อยน้ำมันสำรองด้วยวิธีการสว็อป ดังกล่าวจะมีการประกาศพร้อมๆ กันกับ จีน, อินเดีย, เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ซึ่งร่วมกับสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก 5 อันดับแรก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยปริมาณน้ำมันสำรอง รวมทั้งระยะเวลาที่จะปล่อยออกมา ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในเวลานี้
การปล่อยน้ำมันสำรองแบบสว็อป ไม่ใช่การขายน้ำมันดิบให้กับโรงกลั่นน้ำมันโดยตรง แต่เป็นการ “ให้ยืม” โดยโรงกลั่นสามารถคืนน้ำมันสู่คลังได้ทั้งในรูปของน้ำมันดิบหรือน้ำมันสำเร็จรูป บวกกับส่วนต่างที่ถือเป็น “ดอกเบี้ย”
แหล่งข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า สถานการณ์ยังไม่แน่นอนและแผนการอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่เชื่อว่า สหรัฐเตรียมการที่จะปล่อยน้ำมันสำรองออกมามากกว่า 35 ล้านบาร์เรลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า อีก 4 ประเทศจะปล่อยออกมาเท่าใด ขณะที่นักวิเคราะห์ของซิตีกรุ๊ป คาดว่า ปริมาณรวมจาก 5 ประเทศน่าจะอยู่ระหว่าง 100-120 ล้านบาร์เรลหรือสูงกว่านั้น
นายวิเวก ธาร นักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันของธนาคารเครือจักรภพแห่งออสเตรเลีย ระบุว่า การปล่อยน้ำมันสำรองจากเอสพีอาร์ของ 5 ชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาในตลาดมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันและระยะเวลาที่ปล่อยออกมา แต่เชื่อว่า การปล่อยปริมาณน้ำมันออกสู่ตลาดเกินกว่า 60 ล้านบาร์เรลในช่วงราว 30 วันถือเป็น “ปัจจัยลบอย่างยิ่ง” ต่อราคาน้ำมัน ทั้งยังเกิดขึ้นในขณะที่สถานการณ์ตลาดกำลังเปลี่ยน น้ำมันไหลเข้าคลังสำรองเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นไปได้ที่จะได้เห็นราคาร่วงลงอย่างฮวบฮาบ
ก่อนหน้านี้ในระหว่างการเจรจาเพื่อปล่อยน้ำมันสำรองร่วมกันของ 5 ชาติ สร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมาระยะหนึ่ง ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงกว่า 7 ดอลลาร์จากระดับสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคมมาอยู่ที่ 79.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดนครั้งนี้ ถือเป็นการปล่อยน้ำมันสำรองจากเอสพีอาร์ครั้งที่ 4 ของสหรัฐ ครั้งแรกมีขึ้นระหว่างสงครามอ่าวในปี 1991 ถัดมาเมื่อเกิดวินาศภัยจากเฮอริเคนแคทรีนาในปี 2005 และล่าสุดเป็นการปล่อยน้ำมันสำรองร่วมกันของชาติสมาชิกทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เมื่อเกิดสงครามในลิเบีย ในปี 2011
การปล่อยน้ำมันสำรองนี้มีขึ้นก่อนหน้าการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายของ”โอเปกพลัส” กลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน 32 ชาติในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ราว 1 สัปดาห์ เพื่อกดดันให้โอเปกพลัสเปลี่ยนแนวทางเพิ่มผลผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดเร็วขึ้นกว่าเดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวันที่เป็นอยู่ และถือเป็นการงัดข้อกันเรื่องราคาน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดสงครามราคาน้ำมันเมื่อต้นปี 2020
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดยังคงปรับตัวขึ้นราว 1 เปอร์เซ็นต์ในวันเดียวกันนี้ ทั้งนี้เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า โอเปกพลัส จะตอบโต้การกระทำที่ถือว่าไม่เป็นธรรมครั้งนี้ด้วยการยืนยันแนวทางเดิม