รีเซต

วันนี้ หลังพระอาทิตย์ตก ชวนชม 'ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก' เห็นด้วยตาเปล่า ถ้าฟ้าใสไร้ฝนจะเห็นถึงรุ่งเช้า

วันนี้ หลังพระอาทิตย์ตก ชวนชม 'ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก' เห็นด้วยตาเปล่า ถ้าฟ้าใสไร้ฝนจะเห็นถึงรุ่งเช้า
มติชน
14 กรกฎาคม 2563 ( 13:21 )
147

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทยและที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า วันนี้ (14 ก.ค.) หลังพระอาทิตย์ตกดิน อย่าลืมชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีนั้นสวยงามที่สุด และเห็นเบล หรือเข็มขัดเมฆบนดวงดาวได้ชัดเจน โดยดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) โดยมีโลกคั่นกลาง เรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 619 ล้านกิโลเมตร

นายวรวิทย์กล่าวว่า ประชาชนสามารถชมปรากฏการณ์นี้ได้ เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า จะมองเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มองเห็นส่องสุกสว่าง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน หากฟ้าใสไร้ฝนสังเกตได้ด้วยตาเปล่านานตลอดคืน จนถึงรุ่งเช้า

“เมื่อมองดูดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะสามารถสังเกตแถบเมฆ (เบลหรือเข็มขัด) และดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ทั้ง 4 ดวง ของดาวพฤหัสบดีที่เรียกว่า ดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนีมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสามารถมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน ในช่วงเวลาประมาณ 22.00-01.00 น.” นายวรวิทย์กล่าว

นายวรวิทย์กล่าวว่า คืนดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็น ดาวเสาร์สว่างปรากฏอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดีอีกด้วย ซึ่งถัดจากนี้อีกหนึ่งสัปดาห์ ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ พร้อมเกิดปรากฏการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563

“ที่หอดูดาวภูมิภาคตะวันออกใกล้กรุงเทพฯที่สุด หรือหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา ได้เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องดูดาวหลายตัวคอยต้อนรับ จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก ‘ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี’ วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในวันและเวลาดังกล่าว ในรูปแบบ New Normal ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

“และในช่วงกลางปีไปจนถึงปลายปี 2563 ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า จนกระทั่งช่วงระหว่างวันที่ 20-23 ธันวาคม 2563 ดาวเคราะห์ทั้งสองจะปรากฏใกล้กันมาที่สุดในรอบ 397 ปี ห่างเพียง 0.1 องศา หากดูด้วยตาเปล่าจะมองเห็นเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน เรียกว่า ปรากฏการณ์ The Great Conjunction และถ้ามองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า จะเห็นดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน ถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าติดตามชมเป็นอย่างมาก” นายวรวิทย์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง