รีเซต

โลกร้อนจุดไฟเผาป่า ปี 2024 สูญเสียป่าทุบสถิติ แรงที่สุดในประวัติการณ์

โลกร้อนจุดไฟเผาป่า ปี 2024 สูญเสียป่าทุบสถิติ แรงที่สุดในประวัติการณ์
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2568 ( 12:00 )
13

รายงานประจำปีจากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute - WRI) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เผยว่า ปี 2024 เป็นปีที่เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าทั่วโลกในระดับน่าตกใจ โดยมีสาเหตุหลักมาจากไฟป่าครั้งใหญ่ที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 


โดยเฉพาะป่าดิบชื้นเขตร้อนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ (pristine forests) ถูกทำลายไปมากถึง 41 ล้านไร่ (ประมาณขนาดของประเทศปานามา) เพิ่มขึ้นกว่า 80% จากปี 2023 โดยมีประเทศบราซิล ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นผู้ประสบความสูญเสียสูงสุด เนื่องจากเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของผืนป่าแอมะซอน นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ เช่น โบลิเวีย และ แคนาดา ก็เผชิญกับวิกฤติไฟป่าอย่างรุนแรงเช่นกัน

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่รายงานประจำปีชี้ชัดว่า ไฟป่ากลายเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียป่าเขตร้อนทั่วโลก ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับระบบนิเวศที่โดยปกติตามธรรมชาติแล้วไม่ควรจะเกิดไฟป่าเลย เช่น ป่าฝนแอมะซอนที่มีความชื้นสูง


รายงานระบุว่า ภูมิภาคลาตินอเมริกาได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยป่าแอมะซอนมีอัตราการสูญเสียป่าที่สมบูรณ์สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2016 โดยเฉพาะบราซิลที่สูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 17 ล้านไร่ มากที่สุดในโลก นับเป็นความถดถอยจากความคืบหน้าในปี 2023 ที่ประธานาธิบดี ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ได้ประกาศแผนปกป้องผืนป่าแอมะซอนอย่างจริงจัง


ในรายงานยังระบุว่า โบลิเวีย ได้แซงหน้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ขึ้นเป็นประเทศที่มีการสูญเสียป่าเขตร้อนเป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจะมีพื้นที่ป่าทั้งหมดเพียงครึ่งเดียวของคองโก โดยป่าในโบลิเวียหายไปเพิ่มขึ้นถึง 200% ในปีเดียว สาเหตุหลักได้แก่ ภัยแล้ง, ไฟป่า และนโยบายส่งเสริมการขยายพื้นที่เกษตรกรรมของรัฐบาล และแนวโน้มการสูญเสียป่าคล้ายกันยังเกิดขึ้นใน เม็กซิโก, เปรู, นิการากัว และกัวเตมาลา ส่วนในโคลอมเบียและคองโก ความขัดแย้งภายในประเทศและการควบคุมทรัพยากรโดยกลุ่มติดอาวุธก็มีส่วนเร่งการตัดไม้ทำลายป่า

แม้นอกเขตร้อน ป่าบอเรียลซึ่งตามธรรมชาติมีไฟป่าเป็นวัฏจักรตามฤดูกาล ก็ยังสูญเสียต้นไม้เป็นสถิติใหม่ในปี 2024 โดยทั้งแคนาดาและรัสเซียต่างสูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 32 ล้านไร่ เนื่องจากไฟป่าที่ควบคุมไม่ได้


แต่ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับการสูญเสียป่าเพิ่มขึ้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง มาเลเซีย, ลาว และอินโดนีเซีย กลับสามารถลดการสูญเสียป่าดั้งเดิมลงได้ ด้วยความร่วมมือระหว่างนโยบายรัฐ ชุมชนท้องถิ่น และภาคเอกชน ที่ช่วยควบคุมไฟป่าและการขยายพื้นที่เกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ดินแดนของชนพื้นเมือง Charagua Iyambae ทางตอนใต้ของโบลิเวีย ซึ่งสามารถรับมือกับไฟป่าครั้งใหญ่ได้ ด้วยการใช้นโยบายจัดการที่ดิน และระบบเตือนภัยล่วงหน้า


ร็อด เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายป่าระดับโลกของ WRI ระบุว่า ก่อนที่ผู้นำโลกจะมารวมตัวกันที่เมืองเบเลงในแอมะซอนช่วงปลายปีนี้ เขาหวังเห็นความคืบหน้าในการสร้างกลไกทางการเงินที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าไม้ทั่วโลก รายงานฉบับนี้ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่โลกจะสูญเสียแหล่งดูดซับคาร์บอนธรรมชาติที่สำคัญไปอย่างไม่อาจย้อนคืนได้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง