รีเซต

กรมปศุสัตว์ เปิดแผนกระจายวัคซีน ลัมปี สกิน เตรียมรับอีก 3 แสนโดส หนุนเอกชนนำเข้า

กรมปศุสัตว์ เปิดแผนกระจายวัคซีน ลัมปี สกิน เตรียมรับอีก 3 แสนโดส หนุนเอกชนนำเข้า
มติชน
5 มิถุนายน 2564 ( 11:59 )
102

 

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมพระพิรุณ กรมปศุสัตว์ โดยได้เน้นย้ำกำหนดหลักเกณฑ์ส่งมอบวัคซีน    และกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนตามหลักวิชาการสำหรับวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ล็อตแรก จำนวน 60,000 โดส และ 300,000 โดส ที่จะมาในสัปดาห์หน้า พร้อมหนุนเอกชนให้นำเข้า

 

 

ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบในโค กระบือ และสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่น ๆ เพื่อให้การเฝ้าระวัง ควบคุม และกำจัดโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และทำให้ประเทศไทยปลอดจากโรคดังกล่าวนี้ให้เร็วที่สุด

 

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์และรับทราบอย่างต่อเนื่องปัจจุบันการระบาดของโรคลัมปี สกิน ยังพบในพื้นที่จังหวัดเดิม ยังไม่มีการแพร่กระจายไปจังหวัดอื่นๆ โดยมีรายงานการเกิดโรคแล้ว 41จังหวัด สัตว์ป่วยจำนวน 22,112 ตัว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการตรวจยืนยันสัตว์ป่วย และรักษาสัตว์ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

 

 

“ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนควบคุมโรคและพื้นที่การฉีดวัคซีนสำหรับวัคซีนรอบที่1 (60,000 โดส) ซึ่งกำหนดให้ฉีดวัคซีนในพื้นที่รัศมี 5-50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค โดยกรมปศุสัตว์คัดเลือกพื้นที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม รวม 9 จังหวัด

 

 

กลุ่มที่ 1 คือ จังหวัดที่มีการเกิดโรคใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ที่สัตว์ยังไม่มีการติดเชื้อในช่วงระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 64 ประกอบด้วย 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา และ จังหวัดพะเยา ส่วนพื้นที่ใน

 

กลุ่มที่ 2 คือ จังหวัดที่มีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 64 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ หนองคาย พิษณุโลก สกลนคร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ โดยเลือกอำเภอที่เกิดโรคใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นอำเภอที่ฉีดวัคซีน”

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่อไปว่า มีหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่ตำบลในอำเภอที่ได้คัดเลือกแล้ว ดังนี้  1) ต้องเป็นตำบลที่ไม่มีการเกิดโรค 2) ไม่มีการเคลื่อนย้ายเข้าในพื้นที่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

 

โดยพิจารณาฉีดวัคซีนในสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย รวมทั้งต้องทำเครื่องหมายที่ตัวสัตว์ โดยการตีตราเย็นเป็นสัญลักษณ์ “x” บนไหล่ซ้าย ทั้งนี้ ร่วมกับมาตรการควบคุมแมลงพาหะ งดการเคลื่อนย้ายโคกระบือออกจากพื้นที่ตำบลนั้น และตรวจสุขภาพ สังเกตอาการของสัตว์ทุกวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน หลังจากฉีดวัคซีน

 

 

“สำหรับวัคซีนในรอบที่ 2 (300,000 โดส) มีกำหนดจะจัดส่งถึงประเทศไทยในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์การใช้ในลักษณะเดียวกันกับการฉีดวัคซีนในรอบแรก พร้อมอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงสัตว์หรือจากภาคเอกชน นำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน มาใช้ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์”

 

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯได้มีมติว่า โรคลัมปี สกินเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และมีการควบคุมโรคโดยการฉีดวัคซีนที่นำเข้าจากต่างประเทศ  การกำหนดแผนการฉีดวัคซีนต้องเป็นไปตามระเบียบกรมกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการฉีดวัคซีนลัมปี สกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อให้เป็นแบบแผนเดียวกัน มีความปลอดภัยต่อสัตว์และเป็นไปตามหลักวิชาการ การดำเนินการในระยะต่อไป จะมีการประเมินความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนในพื้นที่ ประเมินประสิทธิภาพความคุ้มโรคหลังจากการฉีดวัคซีน โดยใช้หลักการทางระบาดวิทยาในสุ่มเก็บตัวอย่าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการผลิตวัคซีนในประเทศต่อไป

 

 

“ขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพของโค-กระบือ ให้มีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด หรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 06 3225 6888 หรือทางแอพพลิเคชั่น DLD4.0 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการ” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง