อนาคตการศึกษาไทยไม่ง่าย เด็กขาดโอกาสเพราะค่าเรียนแพง-โรงเรียนไกลบ้าน

ความกังวลเรื่องอนาคตการศึกษา ยังเป็นภาพจำของพ่อแม่ไทย
ในช่วงเปิดเทอมปี 2568 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับเครือข่าย Thailand Education Partnership (TEP) เปิดผลสำรวจระดับประเทศเกี่ยวกับความเชื่อมั่นและความคาดหวังของประชาชนต่อการศึกษาของลูกหลาน
ผลสำรวจจัดทำระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2568 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,310 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อายุ 26 ปีขึ้นไป ซึ่งครอบคลุมหลากหลายอาชีพและรายได้ เป้าหมายคือการหาคำตอบว่า “คนไทยคิดอย่างไรกับการศึกษาในวันนี้ และจะพาลูกหลานไปฝากความหวังไว้กับโรงเรียนประเภทใด”
จากคำถามเรื่องความกังวลต่ออนาคตเยาวชนไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกไม่มั่นคงต่อระบบการศึกษา โดยร้อยละ 30.69 ระบุว่า “ค่อนข้างกังวล” ขณะที่ร้อยละ 22.21 ระบุว่า “กังวลมาก” รวมแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง
โรงเรียนของรัฐยังเป็นคำตอบหลัก แต่คุณภาพไม่ใช่แค่คำว่า “ของฟรี”
เมื่อถามถึงประเภทของโรงเรียนที่เชื่อว่าสามารถมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทยมากที่สุด ร้อยละ 46.26 เลือกโรงเรียนของรัฐ ตามด้วยโรงเรียนเอกชนร้อยละ 26.18 และโรงเรียนนานาชาติร้อยละ 7.18
แม้โรงเรียนของรัฐจะได้รับความนิยมสูงสุด แต่เหตุผลเบื้องหลังการเลือกประเภทของโรงเรียน สะท้อนว่าความมั่นใจนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำว่า “รัฐ” หรือ “เอกชน” หากแต่อยู่ที่คุณภาพของครูเป็นหลัก โดยร้อยละ 46.64 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า “ครูมีคุณภาพ” เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจ
นอกจากนั้น ร้อยละ 44.75 ให้ความสำคัญกับ “หลักสูตรที่ทันสมัย” และร้อยละ 32.46 เลือกโรงเรียนที่มี “อุปกรณ์การเรียนการสอนทันสมัย” ขณะที่เรื่องความปลอดภัย การปลูกฝังคุณธรรม หรือการสอนภาษาที่สอง อยู่ในระดับที่น้อยกว่า
โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ต้องการ ไม่ได้มีเท่ากันสำหรับทุกคน
คำถามที่ทดสอบความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่ประชาชนต้องการสำหรับบุตรหลาน พบว่า ร้อยละ 58.44 ของผู้ตอบเชื่อว่า “ทุกคนมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่เลือก” แต่ก็มีถึงร้อยละ 15.16 ที่เชื่อว่า “ไม่มีใครมีโอกาสเลย” ขณะที่ร้อยละ 12.63 เห็นว่ามีโอกาสแค่ “บางคนเท่านั้น”
เมื่อจำแนกเหตุผลของกลุ่มที่เชื่อว่าไม่สามารถส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนที่เลือกได้ พบว่า “ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป” เป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่ผู้ตอบเลือกถึงร้อยละ 56.05 รองลงมาคือระยะทางที่ “อยู่ไกลบ้าน” ร้อยละ 14.16 และ “สอบไม่ผ่าน” ร้อยละ 8.55
นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนผู้ปกครองบางส่วนที่ระบุว่าเด็กปฏิเสธการเรียนในโรงเรียนที่เลือก ร้อยละ 8.55 เช่นเดียวกับข้อจำกัดด้านจำนวนรับและการไม่มีโรงเรียนทางเลือกในอดีต
ใครควรรับผิดชอบคุณภาพการศึกษา
ประเด็นสุดท้ายของการสำรวจชี้ให้เห็นทัศนคติของสังคมต่อผู้มีหน้าที่ในการพัฒนาการศึกษาไทย โดยร้อยละ 65.50 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า “รัฐบาล” และหน่วยงานรัฐควรเป็นผู้รับผิดชอบในการยกระดับคุณภาพการศึกษา
แต่ก็มีร้อยละ 18.86 ที่เชื่อว่า “ไม่มีใครช่วยได้” ต้องพึ่งพาตัวเองเท่านั้น ขณะที่ภาคส่วนอื่น เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้ประกอบการเอกชน หรือภาคประชาสังคม ถูกมองว่ามีบทบาทน้อยมาก
ภาพรวมการสำรวจ
ผลสำรวจจากนิด้าโพลครั้งนี้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า ระบบการศึกษาของไทยยังคงเป็นสนามของความเหลื่อมล้ำ ผู้ปกครองส่วนใหญ่พยายามเฟ้นหาทางเลือกที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัด ทั้งเรื่องงบประมาณ คุณภาพครู และระบบรับเข้าเรียน
แม้โรงเรียนของรัฐยังได้รับความไว้วางใจในภาพรวม แต่ความเชื่อมั่นเหล่านี้ยืนอยู่บนฐานของ “ความจำเป็น” มากกว่า “ความพึงพอใจ” และปัญหาค่าใช้จ่ายยังคงเป็นกำแพงที่หลายครอบครัวข้ามไม่ไหว