รีเซต

จาก “ช้อปช่วยชาติ” สู่ “ช้อปดีมีคืน”

จาก “ช้อปช่วยชาติ”  สู่ “ช้อปดีมีคืน”
TNN ช่อง16
9 ตุลาคม 2563 ( 10:09 )
507
จาก “ช้อปช่วยชาติ”  สู่ “ช้อปดีมีคืน”

ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี  มักจะเห็นรัฐบาลพยายามออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยมาตรการส่วนใหญ่จะกระตุ้นการบริโภค  และมาตรการที่นิยมหยิบมาใช้อย่างต่อเนื่องคือ “ช้อปช่วยชาติ”  ซึ่งดำเนินการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ก็ออกมาตรการลักษณะคล้ายกับช้อปช่วยชาติ แต่เปลี่ยนชื่อเป็นมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” 

เศรษฐกิจอินไซต์วันนี้เราจะมาขยายประเด็นกันว่า จากช้อปช่วยชาติ สู่ช้อปดีมีคืน จะมีความคล้ายหรือต่างกันนอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน  

มาตรการ “ช้อปดีมีคืน”  ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ( ศบศ.) เห็นชอบให้ดำเนินการเพื่อ “กระตุ้นการบริโภค”  มีลักษณะเดียวกันกับโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2558-2561  ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี จึงนำมาสู่มาตรการช้อปดีมีคืน  

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไม่มีมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ตอนปลายปี เนื่องจากระหว่างปีมีมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจแทน


เรามาเปรียบเทียบกันดูว่า ทั้งสองมาตรการแม้จะมีลักษณะของมาตรกรเหมือนกัน แต่มีการปรับปรุง "ปัดฝุ่น" สร้างแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้น รายละเอียดเป็นอย่างไรมาดูกัน 

มาตรการช้อปช่วยชาติในช่วงก่อนหน้านี้กำหนดวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ขณะที่มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กำหนดวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000บาท  ซึ่งจะต้องเป็นการใช้จ่ายในช่วง 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 คิดเป็นระยะเวลา70วัน  โดยครอบคลุมการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP  แต่ไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน

ทั้งนี้ หากประชาชนได้ใช้สิทธิ์ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการ “คนละครึ่ง” แล้วจะไม่สามรถใช้สิทธิ์ได้ 

ติดตามรายละเอียดได้จากรายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563 เวลา 08.00-08.30 น.

https://www.youtube.com/watch?v=Isp1I4YexMM

จะเห็นว่าการกระตุ้นการบริโภคในรอบนี้ ผ่านมาตรการช้อปดีมีเงินคืนมีลักษณะเหมือนโครงการช้อปช่วยชาติ เพียงแต่เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากกว่า คือ  “ระยะเวลาในการดำเนินการ” นานกว่า  และ“วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดเพิ่มขึ้นถึง 30,000 บาท 

ทั้งนี้ เดิมกระทรวงการคลังเสนอลดหย่อนภาษีสำหรับโครงการ "ช็อปดีมีคืน"  ให้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 50,000 บาท แต่ที่ประชุมหารือว่า 30,000 บาทต่อราย เป็นจำนวนที่เหมาะสมมากกว่า อีกทั้งด้านภาคเอกชนก็สะท้อนว่าจำนวนนี้เหมาะสมและสามารถจูงใจประชาชนชนได้  โดยถ้าประชาชนได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 20% ก็จะใช้จ่ายได้เท่ากับจำนวนที่มีสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีของตัวเอง



และหากมองในจังหวะเวลาที่ออกมาตรการในช่วงนี้ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกว่าช่วงที่ผ่านๆ มา ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์  "ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล"  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่า เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าระบบจากมาตรการช้อปดีมีคืน น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าช้อปช่วยชาติ  เนื่องจากในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดีหากอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจะทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินหมุนเวียนในระบบเร็วขึ้นกว่าภาวะปกติ    จึงน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาส 4/2563 ได้พอสมควร 


โดยภาครัฐประเมินว่า จะมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 3.7-4.0 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 120,000  ล้านบาท  โดยภาครัฐจะสูญเสียรายได้ราว 1 หมื่นล้านบาท  

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามาตรการช้อปดีมีคืน มีเป้าหมายที่ผู้มีรายได้ระดับปานกลางและรายได้สูง ซึ่งหากมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 1.85 ล้านคน จะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 55,500 ล้านบาท แต่หากมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 4 ล้านคน จะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 120,000 ล้านบาท 

ดังนั้น หากรวมกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่่ง และมาตรการเติมเงินสวัสดิการเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาทให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2563 มีแนวโน้มดีขึ้นและหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ2 ไตรมาสก่อนหน้า



อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียง “ชั่วคราว”  เนื่องจากเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้ในช่วง 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 มาตรการดังกล่าวจึงน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้เพียงในช่วงเวลาที่กำหนด ขณะที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่มีแผนซื้อสินค้าอยู่แล้ว แต่เป็นสินค้าที่ไม่รีบใช้ อาจชะลอการจับจ่ายออกไปก่อน เพื่อรอซื้อสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าว  ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคในช่วงก่อนมาตรการนั้นลดลง 

นอกจากนี้ มาตรการช้อปดีมีเงินคืน คงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด   เนื่องจากน่าจะกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราวจึงทำให้ผู้ผลิตอาจจะยังไม่พิจารณากลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง  แต่จะได้ประโยชน์ในเรื่องการระบายสินค้าคงคลังและสภาพคล่องเป็นหลัก

ขณะที่ “ผู้ได้รับประโยชน์” ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)  เช่น ร้านอาหารข้างทาง หรือร้านขายของชำขนาดเล็ก จำนวนมากไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก  แต่ร้านค้ารายย่อยเหล่านี้อาจได้ประโยชน์จากมาตรการ  “คนละครึ่ง” ที่รัฐบาลให้วงเงินสมทบไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน 


อย่างไรก็ดี ศูนย์วจัยกสิกรไทยมีมุมมองเพิ่มเติมต่อมาตรการดังกล่าวว่า การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยในภาพรวม “ภาคค้าปลีก” น่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากที่สุด 

ในขณะที่ยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาคธนาคาร เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะขยายตัวมากขึ้น  ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบในปี 2563 หดตัวลดลงที่ -11%YoYเมื่อเทียบกับหากไม่มีมาตรการที่ –12%YoY 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ซึ่งท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดซ้ำ ประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ ประเด็นเบร็กซิท และความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในระยะข้างหน้า 

ดังนั้นกว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับปกติคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงอาจเห็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นเพิ่มขึ้นอีก และอาจมีการผสมผสานมาตรการกันมากขึ้นด้วย เพื่อให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และร้านค้ารายย่อย หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายเล็ก และขนาดกลางขนาดย่อมที่เคยมีรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ควรมีมาตรการเข้าไปดูแลให้ตรงจุดมากกว่าเหวี่ยงแห  

เนื่องจากปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะที่เข้าใกล้ 60% ต่อจีดีพี  รัฐบาลคงต้องพิจารณาออกมาตรการต่างๆ อย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและกระทบต่อวินัยทางการคลังน้อยที่สุด

ติดตามรายละเอียดได้จากรายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563 เวลา 08.00-08.30 น.

https://www.youtube.com/watch?v=Isp1I4YexMM

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง