รีเซต

ชนิดใหม่ของโลก! ค้นพบครั้งแรกที่โคราช พืชป่าหายากเสี่ยงสูญพันธุ์

ชนิดใหม่ของโลก! ค้นพบครั้งแรกที่โคราช พืชป่าหายากเสี่ยงสูญพันธุ์
ข่าวสด
12 พฤษภาคม 2564 ( 16:40 )
75
ชนิดใหม่ของโลก! ค้นพบครั้งแรกที่โคราช พืชป่าหายากเสี่ยงสูญพันธุ์

 

"มทส." พบพืชชนิดใหม่ของโลก พืชป่าหายากเสี่ยงสูญพันธุ์ ค้นพบครั้งแรกในพื้นที่จ.นครราชสีมา จดชื่อ “แจงสุรนารี” เพื่อระลึกถึงท้าวสุรนารีและเป็นเกียรติแก่ มทส. ซึ่งได้รับการตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลกนี้ในวารสารวิชาการนานาชาติ Phytotaxa

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 พ.ค.2564 ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อพ.สธ-มทส.) คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนาร (มทส.) นครราชสีมา แถลงข่าวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกและค้นพบครั้งแรกในพื้นที่จ.นครราชสีมา

 

โดยทีมนักวิจัย อพ.สธ.-มทส. ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย เจริญเติบโตช้า พบในป่าเบญจพรรณแล้ง ถือเป็นพืชป่าเฉพาะถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์ “Maerua koratensis Srisnga & Watthana” และชื่อไทย “แจงสุรนารี” เพื่อระลึกถึงท้าวสุรนารีและเป็นเกียรติแก่ มทส. ซึ่งได้รับการตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลกนี้ในวารสารวิชาการนานาชาติ Phytotaxa และ อพ.สธ.-มทส. ได้ส่งมอบต้นกล้า “แจงสุรนารี” จำนวน 50 ต้น แก่นางรัชดา ปรัชเจริญวนิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา พร้อมลงพื้นที่ปลูกต้นกล้า เพื่อขยายพันธุ์เข้าสู่พื้นที่ปกปักเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไปตามธรรมชาติ

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2561 สำนักพระราชวังได้มอบหมายให้ มทส.เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลใช้ประโยชน์และเป็นศูนย์แม่ข่ายประสานโครงการ อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเป็นศูนย์ถ่ายทอดแนวทางตามพระราชดำริมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนทั้งเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พืชสมุนไพร พืชพื้นบ้านหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ปัจจุบันมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ วัฒฐานะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา สานักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. เป็นผู้อำนวยการฯ

 

เพื่อสนองแนวพระราชดำริในการสร้างความเข้าใจ และทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่างๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาคตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ จากการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นและงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนคราชสีมา ได้ออกสำรวจทรัพยากรท้องถิ่นในพื้นที่รอบศูนย์ อพ.สธ. คลองไผ่ รัศมี 50 กิโลเมตร เก็บรวบรวมทรัพยากรที่หายากนำมาอนุรักษ์ฟื้นฟูเพื่อเพิ่มจำนวนและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เมื่อปี พ.ศ. 2562 เป็นเรื่องที่น่ายินดี ทีมนักวิจัยของศูนย์ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ซึ่งพบเฉพาะในพื้นที่จ.นครราชสีมาเท่านั้น เป็นพืชในสกุลเดียวกับแจงและเมื่อเปรียบเทียบกับชนิดที่มีทั่วโลก พบลักษณะที่แตกต่างไม่เหมือนกับชนิดใด

 

 

" แจงสุรนารี” ถือเป็นพืชที่มีสถานภาพทางการอนุรักษ์เป็นพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง ศูนย์ อพ.สธ. คลองไผ่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา ได้ร่วมกันขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดในเบื้องต้นนำต้นกล้าจำนวน 50 ต้น ไปฟื้นฟูปลูกคืนสู่ธรรมชาติและอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่ปกปักทรัพยากรเพื่อป้องกันไม่ให้พืชท้องถิ่นชนิดนี้สูญหายไปจากประเทศ การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายด้านพันธุกรรมพืชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ของประเทศไทยอีกด้วย "

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ กล่าวต่อว่า “แจงสุรนารี” ได้มีการเก็บตัวอย่างครั้งแรกโดย ดร. A.F.G. Kerr เมื่อปี พ.ศ. 2474 ในอ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรายุพิน จันทรประสงค์ เก็บตัวอย่างครั้งที่สองจาก อ.สีคิ้ว แต่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2562 นายชลธร โพธิแก้วและนายทศพร ชนกคุณ นักวิชาการประจำศูนย์ อพ.สธ. คลองไผ่ ได้ทำการสำรวจพบพืชชนิดนี้ในพื้นที่ ต.ลาดบัวขาว และ ต.กฤษณา อ.สีคิ้ว

 

 

และในปีเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทียมหทัย ชูพันธ์ นักพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สำรวจพบพืชชนิดนี้ที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา จากข้อมูลปัจจุบัน พืชชนิดนี้พบเฉพาะในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เท่านั้น จึงร่วมกับ ดร.ปรัชญา ศรีสง่า ตรวจสอบชื่อพฤกษศาสตร์ พบเป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับแจง (Maerua siamensis (Kurz) Pax) แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันมากและเมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับชนิดที่ทราบชื่อทั่วโลก พบลักษณะไม่เหมือนกับชนิดใด จึงตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ว่า “Maerua koratensis Srisanga & Watthana” โดยมีชื่อระบุชนิดเป็นชื่อจังหวัดที่พบ คือ โคราช หรือนครราชสีมา ส่วนชื่อไทยตั้งชื่อเป็น “แจงสุรนารี” เพื่อระลึกถึงท้าวสุรนารีและเป็นเกียรติแก่ มทส.

 

 

“แจงสุรนารี” เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย เจริญเติบโตช้า พบในป่าเบญจพรรณแล้ง ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ติดผลช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นพืชป่าที่ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นพืชหายากและพบน้อยต้นในปัจจุบัน มีสถานภาพทางการอนุรักษ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง จึงทำการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพื่อนำไปฟื้นฟูเพิ่มจำนวนประชากรพืชในพื้นที่และอนุรักษ์สายพันธุ์พืชเฉพาะท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง