เบร็กซิท: สหราชอาณาจักร-อียู ต่อเวลาเจรจาข้อตกลงการค้าออกไป
สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องให้เดินหน้าการเจรจาข้อตกลงการค้าที่จะใช้หลังเบร็กซิทออกไป ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เตือนสหราชอาณาจักรจะต้องเตรียมพร้อมในกรณีที่ไม่ได้ข้อตกลงการค้ากับอียู
ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายจอห์นสัน และนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ระบุว่าการขยายเวลาการเจรจาการค้าระหว่างสองฝ่ายเป็น "ความรับผิดชอบ ณ จุดนี้ ที่ต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ" เพื่อหาฉันทามติว่าจะมีการทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่หรือไม่หลังจากสหราชอาณาจักรจะยุติการปฏิบัติตามข้อตกลงเดิมกับอียูในวันที่ 31 ธ.ค. นี้
ทั้งสองฝ่ายระบุว่า การเจรจาวันนี้ (13 ธ.ค.) เป็นเส้นตายในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการเจรจาการค้าต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุชัดเจนว่าการเจรจานี้จะดำเนินต่อไปอีกนานเท่าใด แต่เส้นตายสุดท้ายคือวันที่ 31 ธ.ค. ศกนี้ และจะต้องเผื่อเวลาให้รัฐสภาสหราชอาณาจักรและสภายุโรปสามารถลงมติในข้อตกลงที่จะได้ ก่อนถึงเส้นตายนี้ด้วย
- ผู้นำอังกฤษเตือน มีโอกาสสูงที่จะไม่ได้ข้อตกลงการค้ากับอียูหลัง 31 ธ.ค.
- สหราชอาณาจักรโบกมือลาสหภาพยุโรปแล้ว
- อังกฤษผิดสัญญาอะไร เจรจาข้อตกลงการค้ากับอียูถึงได้สะดุด
- สหราชอาณาจักรจะเสียหายอย่างไร หากออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง
โดยในการเจรจาทางโทรศัพท์นายจอห์นสัน และนางฟอน เดอร์ เลเยน ได้หารือถึง "ประเด็นใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้"
โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า การพูดคุยกับผู้นำอังกฤษในวันนี้เป็นไปอย่าง "สร้างสรรค์ และมีประโยชน์"
แต่นายจอห์นสัน ได้กล่าวย้ำถึงคำเตือนที่เขาเคยพูดก่อนหน้านี้ว่า "มีความเป็นไปได้สูงมาก" ที่สหราอาณาจักรอาจจะไม่ได้ข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับอียู เพราะทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในประเด็นสำคัญต่าง ๆ และสหราชอาณาจักรจะต้องเตรียมพร้อมที่จะใช้เงื่อนไขการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO)
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรได้ถอนตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2020 แต่ยังคงใช้ข้อตกลงการค้าเดิมใน "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" ที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธ.ค.2020
ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับใหม่เพื่อใช้หลังเบร็กซิทมาตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ต้องยืดเยื้อเพราะมี "ประเด็นสำคัญ" ที่ยังตกลงกันไม่ได้ คือเรื่องสิทธิการทำประมง การที่รัฐบาลสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และวิธีการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าของสองฝ่าย
หากไม่ได้ข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ทั้งสองฝ่ายต้องทำการค้าขายระหว่างกันโดยใช้เงื่อนไขและกฎระเบียบต่าง ๆ ขององค์การการค้าโลก ซึ่งจะมีการนำระบบภาษีนำเข้า-ส่งออกมาใช้ ซึ่งจะส่งผลให้อังกฤษต้องซื้อสินค้าจากอียูในราคาที่สูงขึ้น และสินค้าอังกฤษที่ส่งไปขายในอียูมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน
ด้านกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ วิจารณ์ว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ จะทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญความลำบากอย่างยิ่งในการเตรียมตัวสำหรับวันที่ 1 ม.ค. 2021 ขณะที่พรรคเลเบอร์ ฝ่ายค้านของอังกฤษเรียกร้องให้นายกรัฐมตรีจอห์นสันหาทาง "บรรลุข้อตกลงให้ได้" เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวเดินต่อไปได้
............
เบร็กซิท กับ ประเด็นพื้นฐาน
- เบร็กซิทเกิดขึ้นแล้ว แต่กติกายังไม่เปลี่ยนทันที :สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปแล้วตั้งแต่ 31 ม.ค. 2020 แต่ผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายต้องการเวลา 11 เดือน ในการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างกันฉบับใหม่
- การเจรจากำลังดำเนินไป : สหราชอาณาจักรและอียูมีเวลาเจรจากันถึง 31 ธ.ค. ศกนี้ เพื่อให้ได้ข้อตกลงฉบับใหม่ที่ว่าด้วยการค้า การประมง และเรื่องอื่น ๆ
- จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ได้ข้อตกลง : จะเกิดการตรวจตราบริเวณชายแดน และการเก็บภาษีสินค้าผ่านแดนระหว่าง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะได้ข้อตกลงใหม่หรือไม่ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านนี้ในหลายประเด็น