ดาวเทียม 'สำรวจพื้นผิวโลก' ของจีน เริ่มถ่ายภาพแล้ว
ปักกิ่ง, 12 ก.พ. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (11 ก.พ.) คณะนักวิทยาศาสตร์ที่กำกับควบคุมดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01เอ (L-SAR 01A) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจระยะไกลของจีน เปิดเผยว่าดาวเทียมดวงนี้เริ่มบันทึกภาพในวงโคจรแล้ว
จีนใช้จรวดขนส่งลองมาร์ช-4ซี (Long March-4C) ขนส่งดาวเทียมฯ ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 26 ม.ค. โดยดาวเทียมดวงดังกล่าวติดตั้งเรดาร์ชนิดช่องรับคลื่นสังเคราะห์ (SAR) แอล-แบนด์ (L-band) จะปฏิบัติงานตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยา ดินถล่ม และแผ่นดินไหว
สถาบันวิจัยข้อมูลการบินและอวกาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ซึ่งเป็นองค์กรออกแบบเรดาร์และรับข้อมูลการสำรวจ ระบุว่าปัจจุบันเรดาร์ข้างต้นสามารถบันทึกภาพที่มีคุณภาพจากอวกาศได้
เรดาร์ชนิดช่องรับคลื่นสังเคราะห์เป็นระบบเรดาร์บันทึกภาพด้วยคลื่นไมโครเวฟ ที่ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสู่พื้นโลกและรับเสียงสะท้อน โดยสามารถบันทึกภาพพื้นผิวโลกที่มีความละเอียดสูงได้ในทุกสภาพอากาศตลอดเวลาด้วยคลื่นไมโครเวฟ
อนึ่ง แอล-เอสเออาร์ เป็นกลุ่มดาวเทียมที่ประกอบด้วยดาวเทียม 2 ดวง ซึ่งถูกออกแบบให้เข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 600 กิโลเมตร โดยแอล-เอสเออาร์ 01บี จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้