รีเซต

กรมชลฯ ขานรับ กอนช. เตรียมรับมือฝนตกหนัก 21-24 มี.ค.นี้

กรมชลฯ ขานรับ กอนช. เตรียมรับมือฝนตกหนัก 21-24 มี.ค.นี้
มติชน
21 มีนาคม 2565 ( 16:54 )
35
กรมชลฯ ขานรับ กอนช. เตรียมรับมือฝนตกหนัก 21-24 มี.ค.นี้

ข่าววันนี้ 21 มี.ค. นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบออนไลน์ ว่า หลังจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 21-24 มีนาคมนี้ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง กระบี่ พังงา ตรัง ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ดังกล่าว ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ รวมทั้งเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องด้วย

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ในปัจจุบัน นั้น มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 49,078 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 65% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 25,140 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 16,861 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 76% ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,472 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้รวม 4,776 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 4,707 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 78% ของแผนฯ เนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกเป็นระยะๆ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและในลำน้ำธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ทั้งยังส่งผลดีต่อการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2565 ตามมาตรการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทั้ง 13 มาตรการ อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบอาคารชลประทาน โดยเฉพาะบานระบายประตูน้ำให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำ 80% ของความจุอ่างฯ ให้ควบคุมปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง