TPIPPชิงไฟฟ้าขยะ-ลม เติมพอร์ต340เมกะวัตต์
#TPIPP #ทันหุ้น – TPIPP รับอานิสงส์รัฐขึ้นค่า Ft หนุนผลงานปี 2565 ดีกว่าปีก่อน แม้วัตถุดิบมีราคาผันผวนสูง ลุยเข้าร่วมประมูลงานโรงไฟฟ้าขยะ-ลมเพิ่ม คาดหวังได้ 340 เมกะวัตต์ วางเป้าปี 2566ขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็นกว่า 550 เมกะวัตต์ ใส่เกียร์ลุยสถานีชาร์จ EV เต็มสูบ
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า ประเมินผลการดำเนินงานปี 2565เชื่อว่าจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,358.26 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,191.33 ล้านบาท แม้ว่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ของโครงการ TG3 ขนาด 18 เมกะวัตต์ และ TG5ขนาด 55 เมกะวัตต์ จะหมดลง รวมเป็นมูลค่ากว่า 1,134.6 ล้านบาท ในปีนี้
แต่ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถควบคุมต้นทุนวัตถุดิบเชื้อเพลิงโดยเฉพาะที่เป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ดีขึ้น รวมถึงการเพิ่มโรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพต่ำที่กำลังจะทยอยแล้วเสร็จ ทำให้คาดว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการยกระดับมาร์จิ้นให้บริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งได้อานิสงส์จากการที่ภาครัฐปรับค่าไฟฟ้า (Ft) ในเดือนมกราคม-เมษายน ขึ้น 20 สตางค์ต่อหน่วย และเดือนพฤษภาคม-กันยายน อีก 20 สตางค์ รวมเป็น 40 สตางค์ในปัจจุบันอีกด้วย
*จับตาขึ้นค่า Ft
โดยจากนี้คงต้องจับตารอดูในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการประกาศการปรับขึ้นอีกหรือไม่ ทั้งนี้การขึ้นค่า Ft ส่งผลดีต่อบริษัทสามารถรับรู้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น 599 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทสามารถจำหน่ายเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ให้กับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPLได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 600 ตัน จากเดิมที่จำหน่ายได้เฉลี่ย 1,000 ตันต่อวัน รวมประมาณ 34.6 ล้านบาทในปี 2565 นี้
นอกจากนี้ จากการทำ Coal Replacement ในปี 2565นี้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ที่ราว 538 ล้านบาท สำหรับการขายไฟฟ้าเฉพาะกิจ หรือการรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปถัวเฉลี่ยกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น คาดทำรายได้ที่ประมาณ 341.4 ล้านบาทในปีนี้
*ลุยนิวโปรเจ็กต์
ขณะเดียวกันปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ตามแผน PDP กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ เบื้องต้นบริษัทคาดหวังโอกาสได้รับ 40 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม ตามแผน PDP กำลังการผลิต 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทก็คาดหวังว่าในครั้งนี้จะได้รับไม่น้อยกว่า 300 เมกะวัตต์
อีกทั้งบริษัทยังให้ความสนใจที่จะเปลี่ยนรถบรรทุกที่ใช้ภายในโรงปูนเป็นรถบรทุกพลังงานไฟฟ้า (Electric Truck) จึงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการติดตั้งสถานีชาร์จภายในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ รวมถึงศึกษาแนวทางการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาสถานี (โซลาร์รูฟ) คาดว่าจะชัดเจนในปีหน้า ทั้งนี้ไม่ปิดกั้นโอกาสที่จะต่อยอดการศึกษาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายในอนาคต
ในปี 2565 บริษัทจะมีกำลังการผลิตจาก Independent Power Supply (IPS) และ SPP-VSPP รวมเป็น 440 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็น IPS ขนาด 260 เมกะวัตต์ และ SPP-VSPP ขนาด 180 เมกะวัตต์) และจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 510 เมกะวัตต์, 542 เมกะวัตต์, 606 เมกะวัตต์ ในปี 2566-2568 และคาดจะแตะระดับ 1,606 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 (2030) สะท้อนต่อผลการดำเนินงานที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทเป็นบริษัทที่มี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่จะขายได้ประมาณ 6.61 ล้านตันต่อปี จากการใช้ขยะในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ บริษัทได้เดินหน้าเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ ในปัจจุบันให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100%โดยจะใช้เชื้อเพลิงขยะแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน 100% ได้ในปี 2569 ทำให้บริษัทจะมี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่จะขายได้ประมาณ 12.45 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป