รีเซต

จับสังเกตลูกน้อย อาการแบบไหนติดเชื้อไวรัส RSV

จับสังเกตลูกน้อย อาการแบบไหนติดเชื้อไวรัส RSV
TNN ช่อง16
27 ตุลาคม 2563 ( 14:25 )
648

RSV เชื้อไวรัสสุดฮิตที่มักเกิดขึ้นในหมู่เด็กเล็ก เชื้อไวรัสชนิดนี้ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Respiratory Syncytial Virus" เป็นเชื้อไวรัสไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม มี 2 สายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B โดยก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก และพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ส่วนผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน แต่อาการมักไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมาบ้างแล้ว

ที่สำคัญก็คือ RSV สามารถเป็นแล้วเป็นอีกได้หลายครั้ง เนื่องจากมี 2 สายพันธุ์ มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ


จับสังเกตอาการติดเชื้อไวรัส RSV

- ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม 

- มีเสมหะจำนวนมาก

- มีไข้สูง

- หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ

- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ช่วงปลายฝนต้นหนาว

- เด็กที่อายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่น หูอักเสบ ไซนัสหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้


RSV ต่างจากไข้หวัด ธรรมดาอย่างไร?

อาการติดเชื้อไวรัส RSV นั้น มักจะไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาในผู้ใหญ่หรือเด็กโต แต่ในเด็กเล็กเริ่มต้นเป็นไข้หวัดแล้วอาจมีเชื้อลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่างเป็นปอดอักเสบได้

ทั้งนี้ แพทย์สามารถตรวจากน้ำมูก ซึ่งจะตรวจพบเชื้อ RSV เพียงร้อยละ 53-96 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV การตรวจทำได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกรายเพราะการตรวจพบ หรือไม่พบเชื้อ RSV ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษา แต่ช่วยในการแยกผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายโรคได้

วิธีการรักษา 

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV หรือ วัคซีนป้องกัน แพทย์จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ ประคับประคอง เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ หรือการให้ออกซิเจน เพื่อเพิ่มความชื้น ความชื้นเหล่านี้จะทำให้เสมหะที่อุดอยู่ในหลอดลม เมื่อไอ เสมหะ จะหลุดออกมาได้ง่าย รวมถึงการเคาะปอดและดูดเสมหะออก ส่วนยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์หากไม่มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

แต่หากเป็นแค่อาการหวัดจากเชื้อ RSV ให้รักษาตามอาการที่บ้านได้ ไม่มีความจำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาล เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากโรงพยาบาลหรือการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้


วิธีป้องกัน

- หมั่นให้ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส

- หลีกเลี่ยงสถานที่คนจำนวนมาก หรือใส่หน้ากากอนามัยในที่ๆ คนพลุกพล่าน

- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ 

- ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย 

- แยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ควรใช้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม สถานที่เสี่ยงในการติดเชื้อส่วนใหญ่ ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล หรือตามสถานที่ชุมชน โดยทั่วไปเชื้อจะแพร่ได้นาน 3-8 วันหลังมีอาการป่วย แต่อาจนานถึง 3-4 สัปดาห์ในเด็กเล็กหรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น หากผู้ปกครองพบว่า เด็กมีอาการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดให้หยุดเรียน เพื่อเฝ้าดูอาการจนหาย หรืออย่างน้อย 5-7 วัน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น


ขอบคุณข้อมูลจาก

อ.พญ.โสภิดา บุญสาธร สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

พญ.กิจจาวรรณ เฮงคราวิทย์ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง