รีเซต

หญิงบึงกาฬ ต้มหอยเชอรี่กินกับส้มตำ เคี้ยวเจอ 'มุกเมโล' รีบส่งตรวจ ผลยันเป็นของจริง

หญิงบึงกาฬ ต้มหอยเชอรี่กินกับส้มตำ เคี้ยวเจอ 'มุกเมโล' รีบส่งตรวจ ผลยันเป็นของจริง
มติชน
7 กันยายน 2565 ( 14:57 )
140
หญิงบึงกาฬ ต้มหอยเชอรี่กินกับส้มตำ เคี้ยวเจอ 'มุกเมโล' รีบส่งตรวจ ผลยันเป็นของจริง

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ พบก้อนเหมือนไข่มุกสีส้ม อยู่ในหอยเชอรี่จึงรีบเดินทางไปบ้านหลังดังกล่าว ทราบชื่อต่อมาคือชื่อ นายพูนศักดิ์ บุญงาม อายุ 39 ปี นาง ทองสุข บุญงาม อายุ 38 ปี และนาย พูนสวัสดิ์ บุญงาม อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นลูกชาย

 

นางทองสุข เล่าว่า หลายเดือนก่อน ได้สั่งซื้อหอยเชอรี่สดจากญาติในราคา 100 บาท ซึ่งหอยเชอรี่นี้ก็เก็บมาจากอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง อยู่ใกล้ๆกับเกาะดอนแก้วดอนโพธิ์ ดอนแก้ว ที่นักท่องเที่ยวมักเดินทางมากราบไหว้ปู่อือลือ บนเกาะแห่งนี้ ก็ได้นำหอยเชอรี่มาต้มกินกับส้มตำ ในขณะที่กำลังกินอยู่ลูกชายเคี้ยวตรงหัวหอย นึกว่าเป็นก้อนหินเลยเอาออกมาดู รูปร่างกลมสีส้ม

 

ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรก็เลยเก็บไว้ แล้วก็เล่าให้เพื่อนบ้านฟัง เพราะปกติไม่เคยได้ยินว่ามีอยู่ในหอยเชอรี่ ที่เป็นน้ำจืด ส่วนมากจะอยู่ในหอยหวานซึ่งเป็นน้ำเค็ม เพื่อนบ้านก็เลยแนะนำให้เอาไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทดสอบอัญมณี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 กันยายน ดูว่าใช่มุกประเภทใด และผลออกมาวันที่ 6 กันยายนนี้

ซึ่งผลปรากฏว่าเป็นเมโลจริง เม็ดมีลักษณะกลม สีส้ม น้ำหนัก 0.36 กรัม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 17-16 มม. ระบุแหล่งที่มาว่าเป็น สายพันธุ์ธรรมชาติ ทางเจ้าหน้าที่ยังบอกว่า ถือเป็นครั้งแรกที่พบหอยเมโล ในแหล่งน้ำจืด ส่วนตัวคิดว่าปูอือลือ คงจะมาให้โชคลาภ เพราะหอยเชอรี่ได้มาจากอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก็จะเก็บรักษาไว้ และถ้ามีใครสนใจ ก็สามารถสอบถามได้

 

บึงโขงหลงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศลำดับที่ 1,098 ของโลก มีพื้นที่ 13,800 ไร่ ตั้งอยู่พื้นที่อำเภอบึงโขงหลงและอำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ตอนใต้ของบึงมีห้วยน้ำเมาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสงครามซึ่งไหลหลงสู่แม่น้ำโขง มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง จากการศึกษาพบพืชน้ำอย่างน้อย 75 ชนิด ชนิดพันธุ์พืชบก 256 ชนิด พันธุ์ปลา 64 ชนิด นก 27 ชนิด อาศัยอยู่ ในช่วงฤดูหนาวบึงโขงหลงก็จะกลายเป็นที่พักอาศัยของนกอพยพตามเส้นทาง The eartern asia flyway มากกว่า 30 ชนิดอีกด้วย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ WWF ประเทศไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง