"อุกกาบาตเอเลียน" ไม่ได้มาจากระบบสุริยะ แต่มาจากจักรวาลอันไกลโพ้น
ผลศึกษาระบุวัตถุนอกโลกที่พบในมหาสมุทร ไม่ได้มาจากระบบสุริยะ แต่มาจากจักรวาลอันไกลโพ้น
เศษชิ้นส่วนเม็ดเล็กที่พบนอกชายฝั่งปาปัวนิวกินี มาจากอุกกาบาตที่เดินทางมาหลายปีแสง ซึ่งไม่ได้มาจากระบบสุริยะ แต่มาจากจักรวาลอันไกลโพ้น ซึ่งอุกกาบาตที่ดาวเทียมสหรัฐฯติดตาม ก่อนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อปี 2014 คือ อุกกาบาต IM 1 หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า CNEOS 2014-01-08
อุกกาบาต IM 1 ได้รับความสนใจจากศาสตราจารย์อาวี โลบ นักดาราศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ และศาสตราจารย์โลบ ยังเป็นผู้ก่อตั้งโครงการกาลิเลโอเมื่อปี 2021 ที่มุ่งค้นหาร่องรอยของเทคโนโลยีระดับสูงของต่างดาวบนโลก
ศาสตราจารย์โลบ และทีมวิจัย ได้พบเศษชิ้นส่วนเม็ดเล็กหรือสเฟียรูลหลายสิบเม็ด ที่แตกออกมาจากอุกกาบาต IM 1 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 0.05 ถึง 1.3 มิลลิเมตร จากก้นมหาสมุทร ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะมานุสของปาปัวนิวกินี ไปทางเหนือราว 85 กิโลเมตร
ผลการประเมินเบื้องต้นของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า องค์ประกอบของแร่ธาตุในสเฟียรูล มีความผิดแผกไปจากวัตถุที่พบในระบบสุริยะเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น สเฟียรูลดังกล่าว ยังมีองค์ประกอบของโลหะบางชนิดอย่าง เบริลเลียม , แลนทานัม และยูเรเนียม ในสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษ อีกทั้งไม่เคยพบมาก่อนในกลุ่มวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดจากระบบสุริยะ ทำให้เชื่อว่า อุกกาบาต IM 1 เดินทางข้ามอวกาศระหว่างดวงดาว ก่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก
ชาร์ลส์ ฮอสคินสัน นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซึ่งให้การสนับสนุนด้านการเงินในโครงการค้นหาเทคโนโลยีระดับสูงของต่างดาวบนโลก บอกว่า นี้คือการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้ครอบครองวัตถุที่มาจากห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์โลบ เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อว่า โอมูอามูอา ซึ่งเยือนโลกปี 2017 อาจเป็นยานสำรวจของมนุษย์ต่างดาว เนื่องจากมีรูปทรงแปลกประหลาด และเปลี่ยนแปลงความเร็วได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้อย่างชัดเจนว่า โอมูอามูอา เป็นยานสำรวจของเอเลียน
ภาพจาก TNN ช่อง 16