รีเซต

รวมปฏิกิริยาผู้นำอาเซียนต่อมาตรการภาษีของทรัมป์

รวมปฏิกิริยาผู้นำอาเซียนต่อมาตรการภาษีของทรัมป์
TNN ช่อง16
5 เมษายน 2568 ( 10:42 )
19

สืบเนื่องจากการประกาศขึ้นภาษีช็อกโลกของทรัมป์เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่างได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ซึ่งนอกเหนือจากไทยที่เพิ่งมีประกาศจากรัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวออกไป ผู้นำประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนเริ่มทยอยออกมาแสดงความคิดเห็นต่อมาตรการภาษีของทรัมป์กันอย่างกระตือรือร้น ด้วยความกังวลเรื่องผลกระทบกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ

-อินโดนีเซีย-

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียออกแถลงการณ์ว่า อินโดนีเซียจะส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นกำแพงภาษี ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่าประเทศได้คาดการณ์และเตรียมกลยุทธ์รวมไปถึงขั้นตอนต่าง ๆ “ตั้งแต่ต้นปี” (2025) เพื่อรับมือกับมาตรการภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมารับตำแหน่ง 

รัฐบาลอินโดนีเซียจะเดินหน้าดําเนินการเชิงกลยุทธ์เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านลบจากกำแพงภาษีสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

ขณะเดียวกัน ทางการอินโดนีเซียเผยว่าได้มีการหารือกับฝั่งมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้สำหรับมาตรการรับมือของภูมิภาคอาเซียนภายใต้ภาษีของทรัมป์

-มาเลเซีย-

สำหรับมาเลเซียเพิ่งมีรายงานว่าเมื่อวานนี้ (4 เมษายน) นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ได้จัดการหารือแบบกลุ่มกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนต่อมาตรการทางภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำจาก “อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม และสิงคโปร์” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน รัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยด้วยว่าจนถึงตอนนี้ยัง “ไม่ได้พิจารณาภาษีตอบโต้” ซึ่งตามรายงานของกระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรม ของมาเลเซีย ระบุว่า กำลังแสวงหาแนวทางแก้ไขที่จะรักษาจิตวิญญาณของการค้าเสรีและความยุติธรรมเอาไว้ และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษี มาเลเซียกําลังขยายตลาดส่งออกของตัวเองโดยจัดลําดับความสําคัญของภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ รวมไปถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค

-เวียดนาม-

นายกรัฐมนตรีฟาม มิน ชินห์ ของเวียดนาม ได้จัดประชุมคณะรัฐมนตรี “เร่งด่วน” เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์ โดยผู้นำเวียดนามกล่าวว่าภาษี 46 เปอร์เซ็นต์ที่เวียดนามโดนเก็บ ไม่ได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศ เขากล่าวด้วยว่าเวียดนามจะยังคงเป้าหมายในการเติบโตของ GDP ที่ 8 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าภาษีของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อประเทศ

ในขณะที่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามกล่าวว่าการตัดสินใจด้านภาษีของสหรัฐฯ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ ส่วนทางฝั่งกระทรวงพาณิชย์เวียดนามได้เรียกร้องไปถึงฝ่ายบริหารของทรัมป์ให้ระงับภาษีศุลกากรแลเข้าสู่โต๊ะเจรจาร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลเวียดนามยังได้ประกาศว่ารองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โฮ ดึ๊ก ฟุค จะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันดี.ซี ในวันที่ 6 เมษายนนี้ เพื่อไกล่เกลี่ยมาตรการด้านภาษีกับฝั่งสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนามหลายคนพยายามดำเนินการหลายอย่างเพื่อมีส่วนร่วมกับฝั่งสหรัฐฯ นับตั้งแต่ที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ด้วยความกังวลเกี่ยวกับดุลการค้าที่ไม่สมดุลเมื่อทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

-กัมพูชา-

สำนักข่าว The Phnom Penh Post สื่อท้องถิ่นของกัมพูชารายงานว่า นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ได้ออกแถลงการณ์เป็นจดหมายไปถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เลื่อนการดําเนินการตามมาตรการภาษี และเปิดทางเพื่อการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษีที่สหรัฐฯ กำหนดของกัมพูชาอยู่ที่ 49 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยกัมพูชายินดีที่จะลดระดับภาษีสินค้าของสหรัฐฯ ใน 19 ประเภทสินค้าจากอัตราภาษีสูงสุด 35 เปอร์เซ็นต์เป็นอัตราภาษีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์แทน เพื่อจิตวิญญาณแห่งการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีของ 2 ประเทศ

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ของฮุน มาเน็ต เขาระบุว่าได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา เป็นตัวแทนเจรจาและเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับตัวแทนการค้าของสหรัฐฯ แล้วโดยที่กัมพูชาจะมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเจรจาที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิผลกับรัฐบาลของสหรัฐฯ เพื่อให้การค้าทวิภาคีแนบแน่นยิ่งขึ้นและเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

ฮุน มาเน็ต กล่าวด้วยว่า การเพิ่มภาษีนําเข้าสินค้าของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ขาดทุนอย่างมากจากการนําเข้าสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาจากการขาดดุลการค้า ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาจะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ ต่อไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน แม้จะกระทบต่อกัมพูชาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ฮุน มาเน็ต กล่าวว่าผลกระทบของมันรุนแรงน้อยกว่าสิ่งที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศของเขาพยายามพูดให้ดูเกินจริงและปลุกระดมความกลัว

-สิงคโปร์-

แม้ว่าสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ในระดับต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คือ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรีสิงค์โปร์ ได้แถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเตือนประชาชนในสิงคโปร์ให้เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้สิงคโปร์จะเจอกำแพงภาษีที่ต่ำที่สุดก็ตาม หว่องยอมรับว่าผลกระทบโดยตรงอาจมีจำกัดในขณะนี้ แต่ผลกระทบในวงกว้างนั้นน่ากังวลยิ่งกว่ามาก นอกจากนี้หว่องยังเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “สงครามการค้าโลก” เนื่องจากหลายประเทศอาจใช้มาตรการตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรง แม้ว่าสิงคโปร์จะตัดสินใจไม่ใช้มาตรการตอบโต้ก็ตาม โดยที่โลกในตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนไปในทางที่เป็นผลเสียต่อกับชาติเล็ก ๆ อย่างเช่นสิงคโปร์

ในขณะที่ "แกน คิม ยง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ กล่าวว่าผลกระทบจะยังคงมีนัยยะสำคัญต่อประเทศ โดยให้เหตุผลว่าภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนของสิงคโปร์ต้องเตรียมพร้อมสําหรับ “น้ําเชี่ยวกราก” ที่อยู่ข้างหน้า จึงควรติดตามสถานการณ์ต่อไปและหากจําเป็น รัฐบาลจะออกมาตรการหรือคำแนะนำพิ่มเติมเพื่อช่วยครัวเรือนและภาคธุรกิจของประเทศ

เช่นเดียวกับ ลี เซียน ลุง อดีตผู้นำสิงคโปร์ที่ออกมาเตือนว่าการเติบโตของสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของฝั่งสหรัฐฯ แม้ว่ามันจะเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าผลกระทบจากมากแค่ไหน แต่ชาวสิงคโปร์และภาคธุรกิจควรเตรียมพร้อมทางจิตใจสําหรับความผันผวนในวันข้างหน้า

-ฟิลิปปินส์-

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์แถลงว่า ฟิลิปปินส์ควรจะมองโลกในแง่ดีว่าประเทศถูกสหรัฐฯ กำหนดภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านและฟิลิปปินส์ยังได้รับผลกระทบน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำเข้าสินค้ารายหลักไปยังสหรัฐฯ ด้วย โดยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์กล่าวว่าภาษีศุลกากรรอบใหม่จากสหรัฐฯ ทําให้ฟิลิปปินส์อยู่ในตําแหน่งที่ได้เปรียบมากขึ้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ส่งออกบางชนิด อาทิ มะพร้าว อีกทั้งกระทรวงจะดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการภาษีรอบใหม่ของสหรัฐฯ

เช่นเดียวกับโฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่กล่าวว่าผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ นั้น “น้อยนิด” รัฐบาลฟิลิปปินส์เชื่อมั่นในความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ประเทศ ไม่ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไรแค่ฟิลิปปินส์จะตอบโต้อย่างเหมาะสมที่สุด ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก็ได้เข้าร่วมการหารือทางโทรศัพท์กับมาเลเซียประธานอาเซียนในปีนี้ถึงแนวทางรับมือมาตรการภาษีของทรัมป์ด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง