รีเซต

ประกันชีวิต ปี 66 ยังท้าทาย ธุรกิจทรงตัว-มีโอกาสโต2%

ประกันชีวิต ปี 66 ยังท้าทาย ธุรกิจทรงตัว-มีโอกาสโต2%
ทันหุ้น
28 กุมภาพันธ์ 2566 ( 12:24 )
141

สมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตไทย ปี 65 ผลงานภาพรวมทรงตัว ส่วนแนวโน้มปี 66 คาดโต 0-2% 

 

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2565 ระหว่าง มกราคม - ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 611,374 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 0.45 เมื่อเทียบกับ ปี 2564 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 169,878 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.49 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 441,496 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.43 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82

 

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

  1. ) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 105,192 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.42
  2. ) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 64,686 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 14.27

จำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้

  •  การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 325,227 ล้านบาท อัตรา
    การเติบโตร้อยละ 1.43 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.20
  •  การขายผ่านช่องทางธนาคาร มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 235,788 ล้านบาทอัตราการเติบโตลดลง ร้อยละ 3.39 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.57
  • การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 26,516 ล้านบาท อัตรา
    การเติบโตร้อยละ 8.63 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.34
  • การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 13,981 ล้านบาท
    อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 2.04 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.29
  • การขายผ่านช่องทางดิจิทัล มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 1,738 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 29.11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.28
  • การขายผ่านช่องทางอื่น เช่น การขาย Worksite, การขายผ่านการออกบูธ, การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8,124 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 13.44คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.33

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในปี 2565 คือ สัญญาเพิ่มเติม (Riders) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงถึง 103,635 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.85 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.95 มาจากการที่ประชาชนตระหนักถึงการดูแลและวางแผนเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น 

 

ทั้งยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเลือกแบบประกันได้ตรงตามความต้องการด้วยความสะดวกรวดเร็ว และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) สามารถเติบโตได้ดีด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,741 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.57

 

สำหรับปี 2566 สมาคมประกันชีวิตไทย คาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,500 – 623,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 0 - 2 

 

มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ ร้อยละ 81 - 82 ซึ่งการคาดการณ์ในครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการขยายตัว ร้อยละ 2.7 – 3.7 (ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566)

 

ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร (ทั้งระบบ online และ offline) เช่น telemedicine บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน (SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย

 

รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย

 

อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตาม สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) แต่ที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในการปรับพอร์ตทั้งในส่วนของการลงทุนและ Product mix และทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตฐานกฎหมายสากล  เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน เช่น 

  1. การส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ 
  2. ผลักดันกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติ 
  3. ผ่อนคลายการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม 
  4. สนับสนุนการพัฒนากระบวนการขายให้ครบถ้วนทุกช่องทาง 
  5. สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างครอบคลุม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยบริหารต้นทุนในระยะยาว 

 

อีกทั้งการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนถึงการป้องกันและรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างองค์ความรู้เพื่อป้องกันภัยจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ซึ่งจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุกในการขอปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน ผลักดันระบบการจัดสอบความรู้ ระบบออกใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้บริษัทสมาชิกและบุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

 

อย่างไรก็ตาม สมาคมประกันชีวิตไทยยังคงยึดมั่นต่อบทบาทการเป็นแกนกลางในการประสานพันธกิจทั้งในรูปแบบประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากบริษัทประกันชีวิตและหน่วยงานกำกับ รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) 

 

โดยมีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อกำกับและติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจ พร้อมทั้งให้บริการลูกค้าได้ทุกรูปแบบไปพร้อมกับเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง