รีเซต

ประกันชีวิต 10 เดือนแกร่ง เบี้ยรวม 4.8 แสนล้านบาท เติบโต 4%

ประกันชีวิต 10 เดือนแกร่ง เบี้ยรวม 4.8 แสนล้านบาท เติบโต 4%
ทันหุ้น
6 ธันวาคม 2566 ( 17:56 )
63

#สมาคมประกันชีวิตไทย #ทันหุ้น สมาคมประกันชีวิตไทย เผยตัวเลขธุรกิจ 10 เดือนเติบโตธุรกิจหมดธุรกิจ ทั้งเบี้ยปีแรก เบี้ยต่ออายุ หนุนเบี้ยรับรวมมาอยู่ที่ 4.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ขณะที่เอไอเอครองส่วนแบ่งตลาดมากสุด ย้ำวางแผนภาษีกับประกันชีวิต อย่าลืมยินยอมให้บริษัทประกันชีวิตส่งข้อมูลชำระเบี้ยกับสรรพากร


สมาคมประกันชีวิตไทย รายงานตัวเลข 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2566) ธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งภาพรวมยังคงเติบโตได้อยู่ตอเนื่องทุกกลุ่มธุรกิจ สะท้อนจากเบี้ยปีแรก(First Year Premium: FYP) ภาคธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ 90,040.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันปี 2565 ที่มีเบี้ยปีแรก 83,376.5 ล้านบาท ในส่วนของเบี้ยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) อยู่ที่ 55,240.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันปี 2565 ซึ่งมีเบี้ยอยู่ที่ 53,259.6 ล้านบาท


ในส่วนของเบี้ยต่ออายุ (Renewal Premium) อยู่ที่ 359,349.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.67% เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 349,977.4 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิต 10 เดือนแรกเติบโตด้วยตัวเลขเบี้ยรับรวมที่ 504,630.0 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่เบี้ยรับรวมอยู่ที่ 486,613.5 ล้านบาท


*เอไอเอ มาร์เก็ตแชร์สูงสุด

ทั้งนี้ เอไอเอ ประเทศไทย หรือ AIA ยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 24% โดย 10 เดือนแรกในส่วนของเบี้ยปีแรกอยู่ที่ 21,308.8 ล้านบาท เบี้ยต่ออายุ 96,296.0 ล้านบาท เบี้ยจ่ายครั้งเดียว อยู่ที่ 3,594.3 ล้านบาท มีเบี้ยรับรวม 121,199.1 ล้านบาท


บมจ. เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต หรือ FWD ส่วนแบ่งการตลาด 15.1% มีเบี้ยปีแรก 17,300.6 ล้านบาท เบี้ยต่ออายุ 52,584.3 ล้านบาท เบี้ยจ่ายครั้งเดียว 6,531.7 ล้านบาท และเบี้ยรับรวม 76,416.6 ล้านบาท


บมจ.ไทยประกันชีวิต หรือ TLI มีส่วนแบ่งตลาด 14.1% มีเบี้ยปีแรก 8,192.5 ล้านบาท เบี้ยต่ออายุ 51,630.5 ล้านบาท เบี้ยจ่ายครั้งเดียว 11,310.4 ล้านบาท และเบี้ยรับรวม 71,133.4 ล้านบาท 


บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต หรือ MTL มีส่วนแบ่งตลาด 11.4% มีเบี้ยปีแรก 10,242.7 ล้านบาท เบี้ยต่ออายุ 38,298.6 ล้านบาท เบี้ยจ่ายครั้งเดียว 8,976.6 ล้านบาท และเบี้ยรับรวม 56,333.8 ล้านบาท 


และ บมจ.กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต หรือ KTAXA มีส่วนแบ่งตลาด 7% มีเบี้ยปีแรก 6,761.0 ล้านบาท เบี้ยต่ออายุ 25,587.1 ล้านบาท เบี้ยจ่ายครั้งเดียว 2,873.0 ล้านบาท และเบี้ยรับรวม 36,139.4 ล้านบาท


ก่อนหน้านี้สมาคมประกันชีวิตไทยรายงานตัวเลขครึ่งปีแรกของภาคธุรกิจเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ด้วยตัวเลขเบี้ยรับรวม 300,005 ล้านบาท โต 3.78% ขณะที่ 10 เดือนแรกเติบโต 4%ด้วยตัวเลขเบี้ยรับรวม 486,613.5 ล้านบาท โดยกลางปี 2566 สมาคมยังไม่มีการปรับตัวเลขการเติบโตขอธุรกิจโดยคาดว่า ธุรกิจประกันชีวิตปี2566 เติบโตระดับ 2% ด้วยตัวเลขเบี้ยรับรวมประมาณ 612,500 – 623,500 ล้านบาท


*แจ้งใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

ทั้งนี้ สมาคมประกันชีวิตไทย ยังได้เดินหน้าแจ้งสิทธิประโยชน์สำหรับลูกค้าที่วางแผนซื้อประกันชีวิตสำหรับลดหย่อนภาษีปลายปี อย่าลืมแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอม (consent) แก่บริษัทประกันชีวิตเพื่อนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันชีวิต ให้กรมสรรพากรตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นผู้เอาประกันภัยจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์นั้นได้ กรณีผู้ที่มีกรมธรรม์หลายฉบับ ก็ต้องให้ความยินยอม (consent)ทุกฉบับที่ผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าว


นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของชีวิตและสุขภาพ ตลอดจนการเงิน การลงทุน รวมถึงเป็นเครื่องมือชดเชยรายได้ในยามชรา ผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตหลายประเภท อาทิ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตควบการลงทุน ประกันภัยสุขภาพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ


ประกอบกับการที่ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการออมเงินระยะยาวเพื่อการสร้างความมั่นคงให้กับอนาคต อีกทั้งยังช่วยลดภาระให้ตนเองและครอบครัวรวมถึงสังคมโดยกรมสรรพกรกำหนดให้สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา เงินคืนที่ได้รับจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี 


และสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีประกันภัยสุขภาพสามารถนำเบี้ยที่ชำระแล้วมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท


*บำนาญได้ลดหย่อนอีก 2แสน

ส่วนผู้ที่มีประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระแล้วไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 


โดยทั้งนี้เงินลดหย่อนภาษีดังกล่าวเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)/ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท


นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีประกันภัยสุขภาพของบิดามารดา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าบิดามารดาของผู้มีเงินได้ จะต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง