รีเซต

ถึงเวลาผู้นำใช้ ESG เพื่อสร้างความโปร่งใสและยั่งยืนให้ธุรกิจ

ถึงเวลาผู้นำใช้ ESG เพื่อสร้างความโปร่งใสและยั่งยืนให้ธุรกิจ
มติชน
1 มีนาคม 2564 ( 14:40 )
75

วิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของไวรัส ปมปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและสังคม รวมไปถึงปัญหาโลกร้อน หากพิจารณาให้ดีปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะหันมาทำงานร่วมกันทั้งกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่สังคมมีความยั่งยืนและเท่าเทียม

 

จากรายงานของเซลส์ฟอร์ซพบว่า 90% ของผู้บริโภคคาดหวังให้ธุรกิจดำเนินกิจการเพื่อตอบแทนกลับสู่สังคมและส่วนรวมมากกว่าเพื่อเพียงแสวงหาผลกำไร ผู้นำทางธุรกิจทั่วโลกจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการนำเอานโยบายและข้อปฏิบัติเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมภายในองค์เพื่อเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายและพันธกิจที่พึงปฏิบัติ

 

สถิติจากสถาบัน G&A Institute ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ากว่า 90% ขององค์กรที่มีรายชื่ออยู่ใน S&P 500 ได้มีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับ ESG อีกทั้งบริษัทวาณิชธนกิจชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาอย่าง Morgan Stanley ได้ออกแถลงการณ์ว่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ESG จะเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนให้ความสำคัญเมื่อพิจารณาหาบริษัทที่ควรค่าแก่การลงทุน นอกจากนี้หลาย ๆ ประเทศก็ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวในแง่ที่เกี่ยวข้องกับ ESG อาทิ เครือสหราชอาณาจักรที่ได้มีการอนุมัติร่างให้บริษัทเอกชนจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านสภาพภูมิอากาศหรือกล่าวคือ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการปัญหาภาวะโลกร้อน ในขณะเดียวกันประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศผู้นำในการแสดงเจตนารมย์ที่จะประเทศที่ไม่สร้างก๊าซคาร์บอนอย่างสิ้นเชิง (zero emissions) ภายในปี 2050 รวมไปถึงประเทศในกลุ่ม EU ซึ่งก็ได้มีการเรียกร้องให้บริษัทแสดงความโปร่งใสในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ ESG เข้าไปในรายงาน NFRD หรือที่เรียกว่ารายงานข้อมูลการรายงานที่ไม่ใช่ทางการเงินในอนาคต

 

ปัจจุบันมีผู้นำทางธุรกิจเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการนำ ESG มาปรับใช้ในองค์กร เพราะต่างตระหนักถึงผลลัพธ์ในทิศทางบวกที่จะนำมาสู่องค์กรเมื่อนำ ESG มาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการสร้างแบรนด์ การเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นเพราะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า หรือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการจ้างงานพนักงานเนื่องจากกว่า 70% ของคนทำงานในยุคปัจจุบันต้องการทำงานให้กับองค์กรที่ใส่ใจกับสังคมและส่วนร่วม

 

นวัตกรรมและความโปร่งใสต้องมาคู่กัน

ในปัจจุบันที่การสร้างผลกำไรและการทำความดีคืนสู่สังคมเป็นเรื่องที่ CEO ทั้งหลายสามารถทำควบคู่กันไปได้ ESG จึงควรเป็นสิ่งที่ธุรกิจนำมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังและมีมาตรการการวัดผลที่ชัดเจน เพื่อแสดงความโปร่งใสอันนำมาสู่ความได้เปรียบทางภาพลักษณ์เชิงบวกของธุรกิจ เพราะหากไม่มีการปฎิบัติและวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ESG ที่ธุรกิจพยายามปฎิบัติจะเสี่ยงต่อการถูกติติงว่าเป็นการสร้างภาพว่ารักษ์โลก หรือ greenwashing นั่นเอง

และเพื่อสร้างแนวทางปฎิบัติที่เกี่ยวข้องกับ ESG ให้เดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง ธุรกิจจะต้องไม่มองข้ามประเด็นที่เป็นปัญหาทับซ้อน โดยข้อมูลจาก Accenture ได้รายงานว่า กว่า 78% ของผู้บริหารในระดับ C-suite ขึ้นไปมีแผนที่จะวางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตทางธุรกิจและนโยบายด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของบริษัทให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals – SDGs ที่องค์การสหประชาชาติกําหนดขึ้น

 

สาเหตุที่ธุรกิจไม่ควรมองข้ามปัญหาทับซ้อนนั้น มาจากแนวคิดเดียวกับที่องค์การสหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้รวมกันถึง 17 ข้อ เพราะการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนจำเป็นต้องเดินหน้าคู่กันไป เราไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร หรือเราไม่สามารถแก้ปัญหาด้านความเท่าเทียมทางเพศได้โดยปราศจากการปรับสิ่งที่นักเรียนถูกปลูกฝั่งมาตั้งแต่ในชั้นเรียน ในแนวทางเดียวกัน ธุรกิจจำต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาแบบองค์รวมแทนที่จะเน้นการแก้เฉพาะจุด

 

ให้ความสำคัญกับเป้าหมายเพื่อสร้างความแตกต่างที่วัดผลได้

การวางแผนทางธุรกิจโดยคำนึงถึงปัญหาทับซ้อนเป็นสำคัญ เริ่มต้นได้โดยการประเมินและปรับสินทรัพย์ในทุกด้านของบริษัทที่พิจารณาแล้วว่าจะช่วยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ อาทิ การสร้างตราสารหนี้สีเขียว หรือการสร้างโปรแกรมทำความดีเพื่อสังคม

การทำโครงการร่วมทุนที่มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงคืออีกสิ่งที่ธุรกิจสามารถทำได้ ยกตัวอย่างบริษัทที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่าง Citi, JPMorgan, Amazon, และ Salesforce ที่ได้มีการระดมทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนเพื่อพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะแรงงาน พัฒนาด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้เรื่องความแตกต่างและความเท่าเทียม ซึ่งจากรายงานของ Global Impact Investing Network (GIIN) เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 พบว่า เทรนด์การร่วมทุนเพื่อสร้างผลเชิงบวกให้แก่สังคมนี้ มียอดการรวมทุนรวมสูงถึง 715 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าปี 2019 ถึง 40%

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้ของธุรกิจอาจไม่เกิดผลหากไม่มีความโปร่งใสที่สามารถวัดผลได้ เช่นกิจกรรมอาสาสมัครที่ธุรกิจสนับสนุนให้พนักงานปฎิบัติเพื่อช่วยเหลือสังคมอาจเป็นกิจกรรมที่ทำมาต่อเนื่องอย่างยาวนานแล้วภายในองค์กร แต่เนื่องจากไม่มีการวัดผลและรายงานที่ชัดเจน จึงไม่มีใครตระหนักถึงสิ่งที่ธุรกิจปฎิบัติและการเปลี่ยนแปลงที่ธุรกิจได้สร้างขึ้นให้แก่สังคม การรายงานเกี่ยวกับ ESG จึงจะเป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า และสังคม สามารถเข้าถึงผลของการเปลี่ยนแปลงที่ธุรกิจทำได้อย่างชัดเจน โดยอย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา บริษัทผู้เป็นสมาชิกของ World Economic Forum และ กลุ่ม International Business Council ได้มีการเรียกร้องให้จัดทำรูปแบบของรายงาน ESG ที่มีบรรทัดฐานในแบบเดียวกันเพื่อธุรกิจจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้

ในปัจจุบันมีธุรกิจมากมายที่ได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกสู่สังคมผ่านแนวคิด Stakeholder Capitalism ที่เน้นการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ยุติธรรม ยั่งยืนเพื่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง มากกว่าเพื่อการสร้างผลกำไรตอบแทนสู่กลุ่มผู้ถือหุ้น ซึ่งเราเชื่อว่าหากธุรกิจเหล่านี้มุ่งมั่นเดินหน้าในแนวทางปฎิบัติอย่างไม่ย่อท้อ ผลของการเปลี่ยนแปลงที่ธุรกิจได้มีส่วนร่วมเพื่อสังคม จะเป็นที่ประจักษ์อย่างแน่นอนในเร็ววัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง