รีเซต

NASA กำหนดปล่อย “เรือใบสุริยะ” ทดสอบใช้งานใบเรือขับเคลื่อนยานอวกาศ

NASA กำหนดปล่อย “เรือใบสุริยะ” ทดสอบใช้งานใบเรือขับเคลื่อนยานอวกาศ
TNN ช่อง16
12 เมษายน 2567 ( 16:28 )
21
NASA กำหนดปล่อย “เรือใบสุริยะ” ทดสอบใช้งานใบเรือขับเคลื่อนยานอวกาศ

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA เผยกำหนดการปล่อยตัว “เรือใบสุริยะ” หรือเทคโนโลยีใบเรือพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถติดตั้งเข้ากับดาวเทียมหรือหุ่นยนต์จรวดต่าง ๆ เพื่อเดินทางบนอวกาศด้วยพลังจากแสงอาทิตย์ได้แบบไม่ต้องใช้พลังงานอื่น ๆ 

ภาพจาก NASA

 

สำหรับเรือใบสุริยะ เป็นเทคโนโลยีการขับเคลื่อนยานสำรวจอวกาศ ที่จะการติดตั้งใบเรือเข้ากับยานสำรวจ โดยทำมุมเข้าหา หรือออกจากดวงอาทิตย์ เพื่อให้อนุภาคแสง หรือโฟตอน (Photons) ที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ ออกแรงกระทำต่อวัตถุที่สัมผัส ซึ่งในที่นี้ก็ใบเรือ เพื่อผลักตัวยานไปข้างหน้า 


กระบวนการนี้ จะคล้ายกับการทำงานของเรือใบในทะเล ที่อาศัยแรงลมในการเคลื่อนที่ ทำให้ตัวยานอวกาศที่ติดตั้งใบเรือนี้ เคลื่อนที่ได้โดยไม่ต้องใช้ระบบการขับเคลื่อนด้วยจรวดแบบเดิม ๆ ลดการบรรทุกน้ำหนัก และอาจทำให้ยานสำรวจสามารถปฏิบัติภารกิจได้ยาวนานและคุ้มทุนมากขึ้น

ภาพจาก NASA

 

โดยตัวใบเรือที่พัฒนาขึ้นนี้ จะถูกเก็บไว้ในยานอวกาศ ที่มีขนาดประมาณเตาไมโครเวฟ มีขาที่ทำจากวัสดุแบบคาร์บอนไฟเบอร์ เป็นโครงสำหรับกางใบเรือออกมา และเมื่อกางแล้วจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 10 x 10 เมตร โดยมีกล้องที่ติดตั้งบนยานอวกาศ จะจับภาพการกางใบเรือนี้ไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าใบเรือจะคงรูปร่างและความสมมาตรในระหว่างการเดินทาง


โดยทีมพัฒนา มีแผนการติดตั้งใบเรือที่พัฒนาขึ้น กับ คิวบ์แซต (CubeSat) ซึ่งเป็นดาวเทียมทรงลูกบาศก์ และเตรียมส่งขึ้นไปกับจรวด อิเล็กตรอน Electron ของ บริษัท ร็อกเก็ตแล็บ Rocket Lab จากฐานปล่อยจรวดของบริษัทในประเทศนิวซีแลนด์ โดยมีกำหนดการปล่อยตัวในเดือนเมษายนนี้

ภาพจาก NASA

 

และเมื่อนำไปใช้งานจริง ทีมงานจะประเมินประสิทธิภาพของระบบเรือใบสุริยะที่ว่า และดำเนินการทดสอบเพื่อปรับวงโคจรของยานอวกาศ เพื่อที่จะเป็นการวางรากฐานสำหรับภารกิจในอนาคต ที่ใช้งานใบเรือขนาดใหญ่ขึ้น


และหากพัฒนาแล้วเสร็จ เรือใบสุริยะนี้ ก็อาจจะเป็นตัวช่วยปฏิวัติการเดินทางในอวกาศ ขยายโอกาสการสำรวจ เพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับจักรวาลให้มากขึ้น และอาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการสำรวจอวกาศในอนาคต


ข้อมูลจาก techtimes, nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง