รีเซต

ศาลโลกเริ่มไต่สวนกองทัพเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

ศาลโลกเริ่มไต่สวนกองทัพเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
TNN ช่อง16
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:54 )
113

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ เริ่มการพิจารณาคดีชั้นต้น ถึงคำโต้แย้งของรัฐบาลเมียนมา ที่ปฏิเสธไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2017


สำนวนฟ้องรัฐบาลเมียนมาถูกเสนอขึ้นโดยประเทศแกมเบีย ด้วยเสียงสนับสนุนโดยองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) จากกรณีที่ชาวโรฮิงญากว่า 7 แสนคน ต้องลี้ภัยข้ามแดนเข้าไปในบังกลาเทศ หลังมีรายงานว่า กองทัพเมียนมาเผาหมู่บ้าน และก่อเหตุสังหารหมู่ รุมข่มขืน และการทรมานอื่น ๆ


การสืบสวนของสหประชาชาติพบว่า การกวาดล้างชาวโรฮิงญานั้น มีเป้าประสงค์ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ พร้อมเสนอให้ดำเนินการลงโทษพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และนายพลอีก 5 คน ฐานมีส่วนรู้เห็น ซึ่งปัจจุบัน มิน อ่อง หล่าย เป็นผู้นำเมียนมา หลังก่อเหตุรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อต้นปี 2021


---ออง ซาน ซูจี ถูกคุมขัง...ยิ่งซับซ้อน---


แต่เดิม ออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำเมียนมา จะเป็นผู้เดินทางไปกรุงเฮกในเนเธอร์แลนด์ เพื่อต่อสู้คดีนี้ ยกตัวอย่างในปี 2019 โดยเธอให้เหตุผลว่า “สถานการณ์มันซับซ้อน” และอันที่จริง กองทัพพยายามเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ไม่ใช่เข่นฆ่า


แต่ภายหลังเธอถูกยึดอำนาจและจองจำ ครั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า จะส่งตัวแทนเข้าต่อสู้คดีแทน


ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเมียนมา ที่ถูกถอดถอนโดยรัฐบาลทหาร ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จะขอถอนคำโต้แย้ง และให้ ICJ เดินหน้าลงโทษเหล่านายพลตามข้อกล่าวหา


---รัฐประหาร ยิ่งทำให้คดีเป็นที่จับตา---


NUG ระบุว่า เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ เขียว โม ตุน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลของซูจี และยังดำรงตำแหน่งอยู่ “เป็นบุคคลเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการพิจารณาในชั้นศาล ในฐานะตัวแทนเมียนมา” หลังคณะกรรมาธิการสมัชชาใหญ่สหประชาชาติตัดสินให้ เขียว โม ตุน ดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะตัดสินใจได้ว่า ใครควรเป็นผู้แทนเมียนมากันแน่


ด้านองค์กรสิทธิ คือ ฮิวแมนไรท์วอช และ ศูนย์ยุติธรรมโลก ระบุว่า การส่งผู้แทนเข้าร่วมของรัฐบาลทหารเมียนมา “จะไม่ได้รับการยอมรับในสหประชาชาติ”


กลายเป็นว่า การก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ยิ่งทำให้คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะมันทับซ้อนกับข้อกล่าวหาว่ากองทัพเมียนมา ใช้กำลังกวาดล้างผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,560 คน


ดังนั้น การพิจารณาคดีของ ICJ ต่อกรณีโรฮิงญา จะวางรากฐานสู่การดำเนินคดีกองทัพเมียนมา ไม่เพียงต่อความผิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา แต่รวมไปถึงการเอาผิดการกวาดล้างผู้ประท้วงในอนาคตด้วย


---เกราะป้องกันให้ชาวโรฮิงญา---


ปัจจุบัน ชาวโรฮิงญากว่า 6 แสนคน ยังอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา ภายใต้ข้อจำกัดและการคุกคามของกองทัพ


องค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่า การพิจารณาคดีนี้ จะเป็นเกราะป้องกันให้กับชาวโรฮิงญาได้ รวมถึงชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในเมียนมา ที่กำลังเผชิญกับพฤติการณ์เชิงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้รัฐบาลทหาร


เพราะผลจากการขึ้นให้การของซูจี, ICJ สั่งให้รัฐบาลเมียนมาต้องปกป้องชาวโรฮิงญา หลัง “สร้างความเสียหายที่เกินเยียวยาต่อสิทธิของชาวโรฮิงญา”

—————

แปล-เรียบเรียง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

ภาพ: Getty Images

ข่าวที่เกี่ยวข้อง