รีเซต

“ความซื่อสัตย์” รากฐานชีวิตใหม่ “หรั่ง พระนคร” จากอดีตนักโทษสู่ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

“ความซื่อสัตย์” รากฐานชีวิตใหม่ “หรั่ง พระนคร” จากอดีตนักโทษสู่ผู้สร้างแรงบันดาลใจ
TNN ช่อง16
25 เมษายน 2568 ( 22:02 )
12

“หรั่ง พระนคร” หรือ อัครินทร์ ปูรี อดีตนักโทษ 9 คดี เล่าประสบการณ์จริงในเรือนจำไทย ตั้งแต่กฎมืด ระบบขาใหญ่ ไปจนถึงคอร์รัปชันเจ้าหน้าที่ พร้อมชูความซื่อสัตย์และโอกาสจากภายนอกคือทางรอดที่แท้จริง


“ผมยังไม่เคยเห็นใครสำเร็จจากเส้นทางผิด... ไม่ตายก็ติดคุก”

คำพูดของ อัครินทร์ ปูรี หรือ หรั่ง พระนคร ชายผู้เคยใช้ชีวิตใน “แดนสนธยา” มากถึง 9 ครั้ง—ติดสถานพินิจ 7 ครั้ง และเรือนจำอีก 2 ครั้ง ตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี จนถึงวัยผู้ใหญ่ ผ่านทั้งความรุนแรง ระบบปกครองในเงามืด อำนาจของ “ขาใหญ่” และ “คอร์รัปชันเชิงระบบ” 

วันนี้ เขาคือช่างทำกีตาร์ ผู้ใช้ฝีมือแลกศักดิ์ศรี และเป็น YouTuber ผู้ใช้ประสบการณ์ตรง ถ่ายทอดเรื่องราวในคุกเพื่อเตือนสติคนรุ่นใหม่ ด้วยน้ำเสียงตรงไปตรงมา และมุมมองที่ไม่มีใครพูด

“คุกไม่เคยเปลี่ยนใครให้เป็นคนดีได้... 

สิ่งที่เปลี่ยนได้ คือโอกาสจากสังคมภายนอก 

และความซื่อสัตย์ต่อชีวิตตัวเอง”

คุกคือ "แดนสนธยา" ที่ความยุติธรรมไม่เคยเท่าเทียม

“สำหรับผม คุกคือ ‘นรกบนดิน’” หรั่งเริ่มต้นแบบไม่อ้อมค้อม

เขาบอกว่า สมัยเด็กไม่มีใครบอกด้วยซ้ำว่า หากทำผิดจะเจอกับอะไร ขณะเข้าไปในสถานพินิจครั้งแรกในวัย 14 เขานึกว่าเป็น “ศูนย์ฝึกอาชีพ” หรือ “สถานที่สอนเด็กให้ดีขึ้น” แต่สิ่งที่รออยู่คือ “ระบบศาลเตี้ย”ที่นักโทษตั้งกันเอง ใช้กำลังปกครองกัน ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ใคร

“นับผิด พูดผิด โดนตบ โดนกระทืบ ใช้แต่ความรุนแรงล้วนๆ... เจ้าหน้าที่เองก็ตีเรา เพราะมองว่าเราพูดไม่รู้เรื่อง”

เมื่อเข้าสู่เรือนจำในเวลาต่อมา สิ่งที่เจอคือโลกที่รุนแรงยิ่งกว่า วัฒนธรรมของนักโทษแตกต่างกันตามภูมิภาค แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ “กฎมืด” 

‘กฎมืด’ ความน่ากลัวที่ระบบมองไม่เห็น

“กฎของคุกจริงๆ ไม่ใช่ของเจ้าหน้าที่หรอก... แต่เป็นกฎของนักโทษเอง”

หรั่งบอกว่า ภายในเรือนจำไม่ได้มีเพียงกฎราชการ แต่ยังมีระบบที่นักโทษสร้างกันเอง — ขาใหญ่ ขาเล็ก กลุ่มอิทธิพล ระบบข่มขู่ กดขี่ และศาลเตี้ยที่ลงโทษกันเอง

“บางคนแม่มาเยี่ยมไม่ได้ให้เงิน ก็โดนกระทืบ

บางคนโดนล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่กล้าบอก เพราะอาย”

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเจ้าหน้าที่มีไม่พอ บางแดนมีนักโทษ 1,500 คน แต่มีผู้คุมเพียง 5 คนเท่านั้น

“ถ้าเจ้าหน้าที่ตึงเกินไป นักโทษลุกฮือเมื่อไหร่ ตายกันทั้งแดน… บางครั้งเขาจึงต้องปล่อยให้กฎมืดอยู่ต่อไป เพื่อให้แดนสงบ”

เมื่อเจ้าหน้าที่กลายเป็น “ตัวแปร” ของคอร์รัปชัน

“ถามว่าของผิดกฎหมายเข้ามาในคุกได้ยังไง... เจ้าหน้าที่นั่นแหละถือเข้ามาเอง”

หรั่งเล่าว่า ในอดีต การลักลอบนำของผิดกฎหมายเข้าไปในเรือนจำ ไม่ได้เกิดจากนักโทษเพียงฝ่ายเดียว แต่มีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นผู้นำสิ่งของอย่างโทรศัพท์มือถือ ยาเสพติด หรือของต้องห้ามอื่น ๆ เข้ามาเอง แลกกับผลประโยชน์จากนักโทษที่มีเงินและอิทธิพล โดยเฉพาะนักโทษในคดียาเสพติด

“ในอดีต โทรศัพท์เครื่องละพันกว่าบาท
ได้เงินล้านหนึ่ง ซื้อบ้านได้เลย
โดนจับมา...มันก็คุ้ม — เขาคิดแบบนี้ไง
เจ้าหน้าที่ก็เลยตกเป็นเบี้ยล่างให้นักโทษ”

เจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจไม่ได้เลวโดยสันดาน แต่เป็นคนธรรมดาที่อยู่ผิดที่ บางคนจบ ปวส. จากสายช่าง มีพื้นเพใกล้เคียงกับนักโทษ นักโทษจึงรู้ว่าใครอ่อน ใครซื้อได้ และควรใช้ “วิธีจีบ” แบบไหนให้ได้ผล

เรือนจำสีขาว ความพยายามที่ยังไม่ขาวสนิท

“เดี๋ยวนี้ดีขึ้นเยอะครับ... แต่มันยังไม่ขาวจริง”

หรั่งบอกว่า หลังรัฐประหารในปี 2557 มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ตรวจค้นจู่โจม ติดกล้องวงจรปิด ตัดสัญญาณโทรศัพท์ และไล่จับเจ้าหน้าที่ที่คอร์รัปชันอย่างจริงจัง

แต่ในขณะเดียวกัน เขายังเชื่อว่า “เรือนจำสีขาว” ยังเป็นแค่แนวคิด ไม่ใช่ความจริง

“ในอดีต เจ้าหน้าที่พวกนี้เห็นแก่เงิน 
ขายศักดิ์ศรีของตัวเองเพื่อเป็นล้อให้กับกลุ่มขาใหญ่
ยาเสพติดเต็มเรือนจำ
เพราะมีเจ้าหน้าที่คอร์รัปชันเยอะ”

 หรั่งเสนอว่าการจะแก้ปัญหาคือ ต้อง “แยกนักโทษให้ชัด” เช่น คนที่ติดคดียาเสพติดควรอยู่รวมกัน เพื่อให้ระบบการอบรมหรือช่วยเหลือตรงจุด ไม่ปนกับคดีรุนแรง หรือกลุ่มรอพิพากษา

ความซื่อสัตย์คือคำตอบ (ที่คุกให้ไม่ได้)

“ถามว่าคุกเปลี่ยนคนได้มั้ย... ไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีคนข้างนอกให้โอกาส”

หรั่งบอกชัดว่า ตลอด 13 ปีในคุก ไม่มีวันที่เขาได้ฝึกวิชาชีพ หรือเปลี่ยนแปลงทางความคิดแบบจริงจัง สิ่งที่ทำให้เขากลับตัวได้ คือคนภายนอกที่ยื่นมือให้หลังพ้นโทษ — คนที่เชื่อว่าเขาจะเปลี่ยนได้ และพร้อมจะให้โอกาสจริงๆ

ทุกวันนี้ เขาเล่าเรื่องในเรือนจำผ่านช่อง YouTube “ฝรั่งพระนคร” เพื่อสะท้อนความจริงให้คนที่ไม่เคยสัมผัสได้เข้าใจ และเตือนคนที่กำลังหลงทางไม่ให้ก้าวเข้าไป

“ที่ผมอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะผมซื่อสัตย์กับอาชีพ 

ไม่โกง ไม่หลอกใคร... 

คุกไม่เคยสอนเรื่องนี้ แต่ชีวิตภายนอกสอนผม”

หรั่งบอกว่าแม้วันนี้จะมีชื่อเสียงในโซเชียล แต่เขายังเลือกที่จะยืนต่อคิว ไม่ใช้สิทธิพิเศษ ไม่อ้างตัว เพราะเชื่อว่าการ “อะลุ่มอล่วยกับเรื่องเล็กๆ” คือจุดเริ่มต้นของการทำผิดในเรื่องใหญ่ๆ โดยไม่รู้ตัว

ข้อคิด จากชีวิตคนเคยผิด

“ผิดชอบชั่วดี รู้หมด ... แค่ต้องอดให้ได้”

สำหรับหรั่ง ชีวิตในวันนี้ต่างจากวันเก่าที่เขาเคยอยู่ในวังวนของความผิดแบบลิบลับ เพราะตั้งแต่เลือกเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง เขากลับกลายเป็นคนที่ผู้คนให้การยอมรับและชื่นชม มากกว่าสมัยที่ยังเกเรเสียอีก

“ปัจจุบันนี้ ผมเดินในเส้นทางความดี 

ผมกลับเป็นคนที่น่ารักมาก 

มีคนชื่นชมผมมากกว่าตอนที่ผมเกเรด้วยซ้ำไป”

และจากประสบการณ์ที่แลกมาด้วยอิสรภาพ หรั่งสรุปไว้อย่างชัดเจนว่า 

เส้นทางผิดไม่มีวัน พาใครไปถึงจุดหมายที่ดี — มันมีแต่ร่องรอยของความเจ็บ ความผิดหวัง และการสูญเสีย

“ผมจะบอกเสมอว่า 

ผมเดินเส้นทางเกเรมา 

ผมยังไม่เคยเจอใครสักคนเดียว 

ที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้... 

ไม่ตายก็ติดคุก มีแต่ความสูญเสีย”

ฟังหรั่งเล่าแล้ว จะเห็นว่า คุกไม่ใช่ที่สำหรับเปลี่ยนคนให้ดีขึ้น แต่มันคือพื้นที่ที่ตอกย้ำให้คนผิดอยู่กับความเจ็บซ้ำซาก สิ่งที่พาเขากลับออกมาได้จึงไม่ใช่ระบบ แต่คือโอกาส และการซื่อสัตย์กับชีวิตของตัวเอง — ซื่อสัตย์ในวันที่ไม่มีใครคอยยืนยันว่าเราดีพอ ซื่อสัตย์แม้ไม่มีใครให้รางวัล และซื่อสัตย์แม้ไม่มีใครมองเห็น 

ความซื่อสัตย์จึงไม่ใช่คุณธรรมที่ฟังดูดีเท่านั้น แต่มันคือรากฐานของการมีชีวิตใหม่ ที่ไม่ต้องหลบสายตาใคร และไม่ต้องหลอกตัวเองอีกต่อไป…