รีเซต

รู้จักพายุหมุนเขตร้อน พายุที่เข้าไทยมากที่สุด

รู้จักพายุหมุนเขตร้อน พายุที่เข้าไทยมากที่สุด
TNN ช่อง16
11 ตุลาคม 2564 ( 15:41 )
210

พายุ (Storm) ถือเป็นภัยธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นบนพื้นทวีปและในมหาสมทุร เมื่อก่อตัวรวมกันจนกลายเป็น พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ซึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา ถือว่าพายุหมุนเขตร้อนเป็นพายุที่พัดเข้าประเทศไทยมากที่สุด สร้างความเสียหายอย่างมากทั้งสิ่งปลูกสร้าง ธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต โดยนักพยากรณ์อากาศได้มีการจัดระดับความรุนแรงของพายุตามมาตรวัดแต่ละภูมิภาคที่พายุก่อตัว ซึ่งหากเจริญเติบโตเต็มที่จะกลายเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดชนิดหนึ่ง


พายุหมุนเขตร้อนมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป โดยจะเกิดขึ้นพร้อมลมที่พัดรุนแรงและหมุนทวนเข็มนาฬิกาในทางซีกโลกเหนือ และหากยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงสุดเกินกว่า 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทของพายุได้ที่ รู้จักประเภทพายุ ภัยธรรมชาติสุดน่ากลัว 


พายุหมุนเขตร้อนแบ่งได้อย่างไร


1. พายุดีเปรสชันเขตร้อน (Tropical Depression) มีความเร็วลมสูงสุด ใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตร/ชั่วโมง

2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดไม่เกิน 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง

3. พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) หรือ เฮอร์ริเคน Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง


อย่างไรก็ตาม เมื่อพายุหมุนเขตร้อนพัฒนาจนกลายเป็นพายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอร์ริเคน จะมีการจัดระดับความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือที่เรียกว่า “ไต้ฝุ่น” ซึ่งจะถูกจัดตามระดับความรุนแรงตามเกณฑ์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ESCAP/WMO) รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยาของแต่ละประเทศ


ขณะที่พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในซีกโลกเหนือแทบมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เรียกว่า “เฮอร์ริเคน” ซึ่งจะถูกจะตามระดับความรุนแรงด้วยมาตรฐานเฮอร์ริเคนแซฟเฟอร์ - ชิมป์สัน โดยอ้างอิงจากความเร็วลมสูงสุดซึ่งพัดต่อเนื่องใน 1 นาทีที่ความเร็วสูง 10 เมตร


มาตราเฮอร์ริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน แบ่งตามระดับได้อย่างไร


ระดับ 1 มีความเร็วลมระหว่าง 119-153 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระดับ 2 มีความเร็วลมระหว่าง 154-177 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระดับ 3 มีความเร็วลมระหว่าง 178-209 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระดับ 4 มีความเร็วลมระหว่าง 210-249 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระดับ 5 มีความเร็วลมตั้งแต่ 252 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป



ข้อมูลภาพจาก : วิกิพีเดีย


ขณะที่ประเทศไทยมักได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันมากที่สุด โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 3-4 ลูก โดยมักเกิดในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งอาจเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย หรือ มหาสมุทรแปซิฟิกทะเลจีนใต้ 


พายุในประเทศไทยเกิดช่วงตอนไหน


1. ช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนเข้าฤดูฝนซึ่งอาจมีพายุไซโคลนจากอ่าวเบงกอลเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางทิศตะวันตก ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันตกของประเทศ

2. ช่วงเดือนกรกฎาคม - เดือนกันยายน อาจมีพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกพัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน

3. ช่วงเดือนกันยายน - ปลายเดือนตุลาคม อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้พัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมทั้งเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

4. สำหรับช่วงต้นฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมกราคม มักจะมีความกดอากาศต่ำในตอนล่างของทะเลจีนใต้พัดผ่านเข้ามาในอ่าวไทย ทำให้มีผลกระทบต่อภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป


ทั้งนี้ ประเทศไทยการพยากรณ์อากาศและการจัดพายุจะถูกแบ่งโดย กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นผู้พยากรณ์อากาศในแต่ละวัน และพยากรณ์การเกิดพายุฝนรวมถึงพายุแต่ละลูกอีกด้วย


ที่มาข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/ , https://ngthai.com/

ที่มาภาพ : AFP, กรมอุตุนิยมวิทยา,วิกิพีเดีย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง