รีเซต

‘ประภัตร’ ลงพื้นที่อีสาน มอบเงินเยียวยาเกษตรกรเลี้ยงโค-กระบือที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี-สกิน

‘ประภัตร’ ลงพื้นที่อีสาน มอบเงินเยียวยาเกษตรกรเลี้ยงโค-กระบือที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี-สกิน
ข่าวสด
22 มกราคม 2565 ( 19:54 )
145

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีมอบเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ที่ได้รับผลกระทบสัตว์ตายจากโรคลัมปี-สกิน (Lumpy Skin Disease: LSD) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร จ.นครพนม จ.อุบลราชธานี และจ.อุดรธานี ว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี-สกิน (LSD) ในโค-กระบือนั้น ภายหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง 684,218,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปี-สกิน ในโค-กระบือ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนลัมปี-สกิน และกระจายวัคซีนชุดใหญ่ไปทั่วประเทศ ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้นและในหลายพื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

 

โดยจากข้อมูลสัตว์ป่วยรายวันลดเหลือจำนวนน้อยมาก และจากการคาดการณ์ของกรมปศุสัตว์คาดว่าประเทศไทยจะสามารถขอคืนสถานะปลอดโรคลัมปี-สกิน ได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและเก็บข้อมูลของกรมปศุสัตว์ พบสัตว์ป่วยจากโรคลัมปี-สกิน ทั้งหมด 68 จังหวัด รวม 605,115 ตัว รักษาหายทั้งหมด 523,429 ตัว อยู่ระหว่างรักษา 20,293 ตัว และสัตว์ตายทั้งหมด 61,393 ตัว ใน 63 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ม.ค. 2564)

 

สำหรับอัตราการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโค-กระบือตายจากโรคลัมปี-สกิน ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2564 นั้น โค ได้ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 13,000 บาท อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี 22,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปีถึง 2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท

ส่วนกระบือ ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 15,000 บาท อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี 24,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปีถึง 2 ปี 32,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 39,000 บาท
โดยขณะนี้ ได้มีจังหวัดส่งเรื่องขอความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์แล้ว 46 จังหวัด เกษตรกร 49,293 ราย โค-กระบือ 54,778 ตัว กรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบเกษตรกรและส่งให้กระทรวงเกษตรฯแล้ว 36 จังหวัด เกษตรกร 36,572 ราย จำนวนสัตว์ 40,963 ตัว กระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบและส่งรายชื่อเกษตรกรให้กระทรวงการคลังแล้ว 33 จังหวัด เกษตรกร 26,077 ราย จำนวนสัตว์ 29,368 ตัว

 

กระทรวงการคลังอนุมัติ และกระทรวงเกษตรฯ โอนเงินให้ทางจังหวัดแล้ว 20 จังหวัด เกษตรกร 12,465 ราย จำนวนสัตว์ 15,233 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 317,765,300 บาท อยู่ระหว่างขั้นตอนการโอนเงินให้เกษตรกร 10,177 ราย จำนวนสัตว์ 11,945 ตัว จำนวนเงิน 249,580,300 บาท เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาแล้ว 2,288 ราย จำนวนสัตว์ 3,288 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 68,185,000 บาท

 

รมช.ประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค รวมถึงสาธารณภัยต่างๆ จึงมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการเลี้ยงโครุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนที่เสียหายไปจากการระบาดของโรค ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้กับเกษตรที่มีความสนใจ

 

โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” มีวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต

 

ซึ่งโครงการดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเท่านั้น แต่มีเมนูทางเลือกให้กับเกษตรกรในด้านต่างๆ ทั้งเมนูอาชีพด้านปศุสัตว์ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงสุกรขุน ไก่ไข่ จิ้งหรีด เป็ดไข่ และแพะขุน เมนูอาชีพด้านพืช สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกฟักทอง ฟักเขียว กระชายขาว และข้าวโพด และเมนูอาชีพด้านประมง สนับสนุนให้มีการเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาทับทิม ปลาดุก และกุ้ง

 

ทั้งนี้ หากเกษตรที่สนใจ สามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1. ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2. ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย โดยวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน จำนวน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง