รีเซต

คำเตือนจากอวกาศ งดเล่นมือถือก่อนนอน เหตุแสงสีฟ้ากระทบ “นาฬิกาชีวภาพ”

คำเตือนจากอวกาศ งดเล่นมือถือก่อนนอน เหตุแสงสีฟ้ากระทบ “นาฬิกาชีวภาพ”
TNN ช่อง16
12 กันยายน 2566 ( 02:47 )
74
คำเตือนจากอวกาศ งดเล่นมือถือก่อนนอน เหตุแสงสีฟ้ากระทบ “นาฬิกาชีวภาพ”

องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) ตอกย้ำเหตุผลที่ผู้คนไม่ควรเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน ผ่านงานวิจัยทางอวกาศที่ถูกเผยแพร่ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยเหตุผลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการที่แสงสีฟ้าสามารถส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) ของร่างกายมนุษย์ได้


แอนเดรียส มอเกนเซ็น (Andreas Mogensen) นักบินอวกาศจาก ESA ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจฮูกินน์ (Huginn Mission) บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลาครึ่งปี เพื่อทำการทดลองกว่า 30 ครั้ง ภายใต้ 3 เสาหลัก ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ สุขภาพ และอวกาศสำหรับโลก กำลังดําเนินการทดลอง 2 ครั้ง เกี่ยวกับการนอนในห้วงอวกาศ โดยพุ่งเป้าไปที่แสงที่ส่งผลต่อนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Light) และการนอนในวงโคจร (Sleep in Orbit)


ในทุก ๆ วัน สิ่งที่นักบินอวกาศ ต้องพบเจอขณะปฏิบัติหน้าที่ คือการเคลื่อนที่รอบโลกในทุก ๆ 90 นาที และการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ถึง 16 รอบ ต่อวัน วัฏจักรของแสงอาทิตย์ที่แตกต่างจากบนพื้นโลกนี้ส่งผลต่อนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย ระบบการเผาผลาญ และวงจรการนอนหลับของนักบินอวกาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 


ทั้งนี้นาฬิกาชีวภาพคือกระบวนการทางกายภาพของร่างกายมนุษย์แต่ละคนที่เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ ของมนุษย์ นั่นหมายความว่าหากนาฬิกานี้ถูกแทรกแซง นักบินอวกาศอาจมีอาการนอนไม่หลับ หรือการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ


เนื่องจากแสงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการนอนของมนุษย์ มอเกนเซ็นจึงได้ใช้โคมไฟพิเศษที่ออกแบบมาให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพของนักบินในอวกาศในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยที่สีของแสงไฟจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาตลอดทั้งวันเลียนแบบแสงตามธรรมชาติบนพื้นโลก อาทิ สีฟ้าที่คล้ายกับท้องฟ้ายามฟ้าสาง ในช่วงเช้าที่นักบินอวกาศตื่นนอน และสีแดงคล้ายกับตอนที่ดวงอาทิตย์กำลังตกดินในช่วงหัวค่ำ


หลักการการใช้สีของแสงในการทดลองนี้ ยังสอดคล้องกับทฤษฎีผลกระทบจากแสงต่อร่างกายมนุษย์ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงสีฟ้าที่มนุษย์พบเจอได้ง่ายมากขึ้นจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เว็บไซต์ฮาร์วาร์ด เฮลธ์ พับลิชชิง (Havard Health Publishing) ของโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) เผยแพร่เมื่อปี 2020 ว่า แสงสีฟ้ามีประโยชน์ในช่วงเวลากลางวัน เพราะช่วยกระตุ้นความสนใจ การตอบสนอง และอารมณ์ ดังนั้นมันจึงไม่เหมาะกับร่างกายในช่วงกลางคืนที่ร่างกายเข้าสู่ภาวะพักผ่อน นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีการใช้แสงสีฟ้าในช่วงที่นักบินตื่นนอน และไม่ใช้แสงดังกล่าวในช่วงก่อนเข้านอน 


สําหรับการศึกษาการนอนหลับในวงโคจร มอเกนเซ็นได้ใช้อุปกรณ์วัดอินเอียร์ (in-ear) ที่มีลักษณะคล้ายหูฟังในการติดตามคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ของสมอง โดยสิ่งประดิษฐ์นี้เป็นผลงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์ฮุส (Aarhus University) ประเทศเดนมาร์ก ที่ช่วยให้พวกเขาประเมินการทํางานของสมองและคุณภาพของการนอนของนักบินอวกาศได้ตลอดทั้งคืน


ขณะนี้นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการวิจัย แสงที่ส่งผลต่อนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Light) และการนอนในวงโคจร (Sleep in Orbit) กําลังทํางานร่วมกันในการแบ่งปันข้อมูลและดําเนินการทดลองทั้งสองเพื่อเสนอข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ข้อมูลปัจจุบันก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า แสงมีผลต่อการนอนของมนุษย์ โดยเฉพาะแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นผู้คนจึงควรละเว้นการใช้โทรศัพท์ก่อนเข้านอน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนาฬิกาชีวภาพให้ได้น้อยที่สุด


ที่มาของข้อมูล interestingengineering, esa.inthealth.harvard.edu

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง