รีเซต

เช็ก 7 อาการผิดปกติเรื้อรังของร่างกาย สัญญาณเตือนเสี่ยงป่วยโรคมะเร็ง

เช็ก 7 อาการผิดปกติเรื้อรังของร่างกาย สัญญาณเตือนเสี่ยงป่วยโรคมะเร็ง
TNN ช่อง16
10 ธันวาคม 2564 ( 11:45 )
201

แฟ้มภาพ

วันนี้ (10ธ.ค.64) นพ.สมศักดิ์ อรรมศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2511 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารดำรงนิราดูร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” มาโดยตลอด 

โดยมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่งทั่วประเทศของกรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการด้านการตรวจ วินิจฉัย และรักษาโรคมะเร็ง

ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 84,073 คนต่อปีโดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ 

- มะเร็งตับและท่อน้ำดี 

- มะเร็งเต้านม 

- มะเร็งปอด 

- มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 

- มะเร็งปากมดลูก

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายคนเห็นสถิติแล้วมีความกังวลว่าตนเองหรือครอบครัวจะโชคร้ายเป็นโรคมะเร็ง 

แต่ในความเป็นจริงเราสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง รวมไปถึงการป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม 

ขณะเดียวกันการหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเรื้อรังของร่างกายจากสัญญาณเตือน 7 ประการ ได้แก่ 

- ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง 

- เป็นแผลเรื้อรัง 

- ร่างกายมีก้อนตุ่ม 

- กลืนกินอาหารลำบาก 

- ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล 

- ไฝหูดเปลี่ยนไป 

- ไอและเสียงแหบเรื้อรัง 

จะช่วยให้รู้ตัวและสามารถพบแพทย์ได้เร็วส่งผลให้การรักษาได้ผลดี

นอกจากนี้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ามะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ซึ่งการค้นพบโรคตั้งแต่ระยะแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งจะทำให้การรักษาได้ผลดีมีโอกาสหายจากโรคสูง

ภาพจาก กรมการแพทย์ 

 


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ 

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง