รีเซต

‘สมาคมโรงแรม’ ร้องรัฐขอเปิดใช้ห้องประชุม-ห้องอาหาร-สระว่ายน้ำ พ้อเปิดแผ่นเสียงตกร่องนานแรมปี

‘สมาคมโรงแรม’ ร้องรัฐขอเปิดใช้ห้องประชุม-ห้องอาหาร-สระว่ายน้ำ พ้อเปิดแผ่นเสียงตกร่องนานแรมปี
มติชน
27 สิงหาคม 2564 ( 05:34 )
35
‘สมาคมโรงแรม’ ร้องรัฐขอเปิดใช้ห้องประชุม-ห้องอาหาร-สระว่ายน้ำ พ้อเปิดแผ่นเสียงตกร่องนานแรมปี

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลให้แนวทางในการผ่อนคลายการเปิดธุรกิจเป็นระยะ โดยในวันที่ 1 กันยายนนี้ อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถเปิดนั่งรับประทานที่ร้านได้ 50% ซึ่งมีข้อปฏิบัติในการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น อาทิ การตรวจคัดกรอง ตรวจชุดแอนติเจน เทส คิส (เอทีเค) และได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยเบื้องต้นมองว่า หากสามารถปลดล็อกให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และสตรีทฟู๊ดเปิดได้ ภัตตาคารหรือห้องอาหารในโรงแรม ก็น่าจะเปิดได้เช่นกัน หลังจากที่หยุดให้บริการมานาน ซึ่งอยากให้ปลดล็อกในส่วนของการใช้ห้องประชุมและสระว่ายน้ำได้ เพราะมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการต่อครั้ง ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยอยู่แล้ว เนื่องจากขณะนี้ยังเห็นความต้องการ (ดีมานด์) ในการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ สะท้อนได้ผลสำรวจการค้นหาแหล่งที่พักหรือโรงแรมจากเว็บไซต์กูเกิล พบว่ามีต่างชาติค้นหาที่พักในประเทศไทยกว่า 63% และคนไทยเอง 37% ทำให้เห็นว่าความต้องการยังมีอยู่ แต่ยังติดข้อจำกัดในเรื่องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะสระว่ายน้ำ ห้องอาหารและห้องประชุม ทำให้ความน่าสนใจหรือแรงดึงดูดลดลง ทั้งที่ความจริงแล้วเชื่อว่าคนน่าจะอัดอั้นและต้องการเที่ยวเพื่อพักผ่อนสูงมาก หากปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ น่าจะช่วยเอื้อให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้นอีก

 

 

“ความต้องการเดินทางเที่ยวของคนระดับกลางขึ้นไปยังมีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยเที่ยวนอกที่มีกว่า 12 ล้านคน ซึ่งเป็นคนที่ยังมีศักยภาพในการใช้จ่ายอยู่ และนิยมเดินทางแบบส่วนตัว ทำให้หากปลดล็อกข้อ จำกัดต่างๆ และกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้ออกมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว ความเสี่ยงในการระบาดก็ไม่ได้สูงมากนักด้วย โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการในขณะนี้ คือ การกลับมาประกอบอาชีพได้ หรือเริ่มเปิดธุรกิจใหม่ได้อีกครั้ง เพื่อให้สามารถหารายได้ด้วยตัวเอง รวมถึงเร่งรัดในการช่วยเหลือด้านการลดต้นทุนคงที่ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ โดยเฉพาะการช่วยจ่ายค่าจ้างให้พนักงานของโรงแรม เพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้ เนื่องจากต้นทุนหลักที่ต้องแบกรับตลอดตั้งแต่ช่วงเกิดโควิดระบาดใหม่คือ เงินเดือน จึงอยากให้รัฐช่วยเหลือส่วนนี้มากที่สุด ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้เป็นการขอความช่วยเหลือใหม่ แต่เป็นการขอความช่วยเหลือเดิมที่เคยพูดมาตั้งแต่แรก เหมือนเปิดแผ่นเสียงตกร่องมานานเป็นปีแล้ว แต่เหมือนเสียงยังไปไม่ถึง เพราะความช่วยเหลือยังไม่มีลงมา” นางมาริสา กล่าว

 

 

นางมาริสา กล่าวว่า สำหรับการเปิดอนุญาตให้เปิดร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือห้องอาหาร อยากให้รัฐบาลมีการกำหนดมาตรการหรือข้อปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา ว่าหากผู้ประกอบการจะกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง จะต้องทำอะไรบ้าง อาทิ พนักงานจะต้องได้รับวัคซีนครบโดสแล้วในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องทั้งหมด และเมื่อเปิดแล้วต้องทำอะไรบ้าง อาทิ การตรวจคัดกรองอย่างไร ตรวจเอทีเคทุกกี่วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนในการดำเนินธุรกิจได้ถูก โดยเฉพาะการกำหนดให้พนักงานตรวจเอทีเค ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในด้านราคาของชุดตรวจ ที่หากต้องตรวจซ้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ ต้องตรวจพนักงานทั้งหมดทุก 5-7 วัน จะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าชุดตรวจอีก ซึ่งตรงนี้จะเป็นต้นทุนเพิ่มที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับซ้ำซ้อนเข้าไปอีก จึงอยากให้รัฐบาลกำหนดแนวทางที่ชัดเจนออกมา และหากสามารถช่วยสนับสนุนงบประมาณหรือนำชุดตรวจเอทีเคแจกให้แรงงานเองได้ จะเป็นการช่วยเหลือที่ดีมาก เนื่องจากขณะนี้ต้องยอมรับก่อนว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ก็แทบยืนอยู่ไม่ไหวแล้ว จึงไม่ต้องถามถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กเลยว่าจะประสบภาวะวิกฤตด้านสภาพคล่องหรือเงินทุนมากเท่าใด ทำให้การเพิ่มต้นทุนเข้ามาอีก ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็เป็นการสร้างผลกระทบตามมาทั้งนั้น

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง