รีเซต

ปศุสัตว์ประจวบฯ เตือนผู้เลี้ยงโคกระบือ อย่าซื้อวัคซีนคุม 'ลัมปีสกิน' นำเข้าจากเพื่อนบ้าน ชี้ยังไม่ผ่านการรับรอง

ปศุสัตว์ประจวบฯ เตือนผู้เลี้ยงโคกระบือ อย่าซื้อวัคซีนคุม 'ลัมปีสกิน' นำเข้าจากเพื่อนบ้าน ชี้ยังไม่ผ่านการรับรอง
มติชน
20 พฤษภาคม 2564 ( 21:49 )
68
ปศุสัตว์ประจวบฯ เตือนผู้เลี้ยงโคกระบือ อย่าซื้อวัคซีนคุม 'ลัมปีสกิน' นำเข้าจากเพื่อนบ้าน ชี้ยังไม่ผ่านการรับรอง

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้แจ้งให้เกษตรอำเภอทุกอำเภอออกให้คำแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือในการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของ โรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ หลังพบการระบาดในพื้นที่ ต.สามกระทาย อ.กุยบุรี ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี และ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน โดยมีรายงานโคนม โคเนื้อ ป่วยติดเชื้อรวมกว่า 200 ตัว

 

นสพ.ยุษฐิระกล่าวว่า ขณะนี้ได้ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวในพื้นที่ที่เกิดโรคแล้ว ห้ามการเคลื่อนย้ายโคกระบือเข้า-ออกพื้นที่ และให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ออกทำการสอบสวนควบคุมโรคด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงชนิดพ่นบนตัวสัตว์และบริเวณคอกโรงเรือนในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค

 

โรคลัมปี สกิน ไม่ติดจากสัตว์สู่คน สัตว์ที่ติดเชื้อมีอัตราการป่วยน้อยเพียงร้อยละ 10-50 อัตราการตายไม่ถึงร้อยละ 10 แต่ส่งผลเสียต่อผลผลิต เช่น โคนมอาจจะให้น้ำนมลดลง หรือโคเนื้อเมื่อป่วยก็จะกินอาหารได้น้อย ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายก็น้อยตามไปด้วย ส่วนโคกระบือที่ตั้งท้องอยู่อาจจะแท้งได้

 

“สำหรับแนวทางรักษาขณะนี้รักษาตามอาการ และกำลังจะมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคเข้ามาในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อฉีดให้กับสัตว์ของเกษตรกรฟรี ดังนั้น ในช่วงนี้จึงขอให้เกษตรกรระมัดระวังอย่าซื้อวัคซีนลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะยังไม่ผ่านการทดสอบและรับรองจากภาครัฐ อาจจะส่งผลเสียต่อสัตว์ได้ นสพ.ยุษฐิระกล่าว

 

สำหรับอาการของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ จะพบตุ่มขึ้นตามตัวสัตว์ ลักษณะคล้ายอีสุกอีใส เนื้อสัตว์ที่พบการติดเชื้อสามารถบริโภคได้ แต่ไม่แนะนำให้บริโภค โรคนี้ติดต่อทางแมลงดูดเลือดทุกชนิด เช่น เห็บ ยุง เหลือบ จึงแนะนำให้เกษตรกรดูแลรักษาความสะอาดคอกโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ กางมุ้ง หรือฉีดพ่นยาฆ่าแมลงบริเวณพื้นคอกโรงเรือน หรือใช้ยาฆ่าแมลงชนิดพ่นบนตัวสัตว์จะช่วยป้องกันสัตว์ป่วยติดเชื้อได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง