รีเซต

‘หอการค้า’ ชี้ลอยกระทงปี 63 เงียบเหงาต่อเนื่อง ทำเงินสะพัดแค่ 9.4 พันล้านบาท ต่ำสุดรอบ 9 ปี

‘หอการค้า’ ชี้ลอยกระทงปี 63 เงียบเหงาต่อเนื่อง ทำเงินสะพัดแค่ 9.4 พันล้านบาท ต่ำสุดรอบ 9 ปี
มติชน
28 ตุลาคม 2563 ( 15:07 )
217
‘หอการค้า’ ชี้ลอยกระทงปี 63 เงียบเหงาต่อเนื่อง ทำเงินสะพัดแค่ 9.4 พันล้านบาท ต่ำสุดรอบ 9 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า พฤติกรรมในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันลอยกระทง จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,222 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16 – 24 ตุลาม 2563 พบว่า เทศกาลลอยกระทงในปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่าเงินสะพัดเพียง 9,429 ล้านบาท ติดลบ 1.5% ซึ่งถือเป็นการติดลบอีกครั้ง และถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุด นับตั้งแต่ปี2555 หรือต่ำที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา โดยบรรยากาศในภาพรวมที่ไม่ดีมากนัก เป็นผลพวงมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สดใสมากนัก และเป็นผลต่อเนื่องจากการระบาดโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเดินทางพบปะสังสรรค์ หรือเข้าไปรวมกลุ่มในคนหมู่มาก โดยประเมินบรรยากาศเทศกาลลอยกระทงปีนี้ มองว่าจะเงียบเหงาเหมือนเดิม เพราะเงียบเหงามาตลอดตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2559 เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำลง ทำให้บรรยากาศเทศกาลลอยกระทงจะไม่คึกคักมากเท่าที่ควร แต่บรรยากาศงานลอยกระทงที่ค่อนข้างจะเงียบเหงา อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่าในต่างจังหวัด เนื่องจากในต่างจังหวัด ราคาสินค้าเกษตรเริ่มทยอยปรับดีขึ้น รวมถึงหากประเมินจากการจัดกิจกรรมต่างๆ มองว่าในต่างจังหวัดจะจัดงานลอยกระทงมากกว่าในกรุงเทพฯ เป็นปกติ

 

สังเกตจากปริมาณรถในกรุงเทพยังค่อนข้างว่าง เพราะอาจกังวลว่าในวันลอยกระทง จะมีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขึ้นในจุดใดหรือไม่ ทำให้บรรยากาศงานลอยกระทงในปีนี้ มีปัจจัยรบกวนทั้งภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งระบบเศรษฐกิจในขณะนี้ มีอุปสรรคนอกจากโควิด-19 แล้ว ยังเป็นเรื่องการจับจ่ายใช้สอยที่จะลดน้อยลงกว่าปกติถึง 40% สาเหตุเป็นเพราะต้องประหยัดมากขึ้น และเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้รวมถึงยังภาระหนี้สินมากขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลง ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งหมดนายธนวรรธน์ กล่าว

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ จะมีผลกระทบต่อมาตรการของภาครัฐหรือไม่ได้แก่ มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน โดยยังไม่เห็นผลกระทบในเชิงบวกมากนักเนื่องจากกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม ให้ข้อมูลว่าการจับจ่ายใช้สอยอันเนื่องมาจากการะตุ้นของภาครัฐมีผลปานกลางเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นมากนัก เพราะเม็ดเงินที่ประชาชนแต่ละคนจะใช้จ่ายนั้นไม่ได้สูงมากนัก โดยประเมินมูลค่าการใช้จ่ายของมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 3,329.20 บาท โครงการคนละครึ่ง 2,117.19 บาท ช้อปดีมีคืน 3,822.71 บาท ทำให้เม็ดเงินที่ใช้จ่ายยังไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากนัก ยังไม่สามารถดึงบรรยากาศเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมาได้ เนื่องจากขนาดของเม็ดเงินรวมทุกโครงการมีประมาณ100,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ต้องการเม็ดเงินประมาณ 300,000 ล้านบาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยในระยะถัดไป หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นกว่า 40 จังหวัดในเดือนธันวาคมนี้ และมีการหาเสียงในแต่ละท้องถิ่นขึ้น ก็จะมีเงินทยอยสะพัดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น จากการที่รัฐบาลพยายามเร่งและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ น่าจะทยอยดีขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่ามาตรการของภาครัฐ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือกำลังซื้อได้มากนัก

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องทำในเชิงเศรษฐกิจคือ ให้เงินหมุนเวียนมากขึ้น เร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และเปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยราชการ จัดสัมมนาในต่างจังหวัดช่วงวันทำงานมากขึ้น เพราะวันหยุดยาวมีการประตุ้นการท่องเที่ยวในบางพื้นที่ได้บ้าง แต่วันธรรมดายังไม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์การท่องเที่ยวได้ ทำให้สัญญาณในการกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวนอกจากนี้ เรื่องที่ต้องติดตามต่อไปคือ การที่สถาบันการเงินต้องพยายามบริการจัดการหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ให้กับลูกค้า หลังจากหมดช่วงมาตรการช่วยเหลือในการพักชำระหนี้แล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับกลไกของการสถาบันการเงินในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัจจัยที่อยู่ในไตรมาส 4/2563 ทั้งหมด ทำให้ขณะนี้บรรยากาศของภาพรวมเศรษฐกิจ ต่อเนื่องจนถึงเทศกาลลอยกระทง ยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นได้อย่างชัดเจนจากมาตรการของภาครัฐ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง