ทรัมป์เดินเกมคานจีน ขึ้นภาษีบีบประเทศเล็ก ปูทางระเบียบโลกใหม่?

“ถ้าคุณเป็นฝ่ายทรัมป์ เขาก็ต้องบอกว่า แน่นอนเขามีแผนการนี้อยู่แล้ว” คือคำตอบแรกของ ผศ.ดร.กัลยา เจริญยิ่ง ที่สะท้อนการกลับลำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการชะลอการจัดเก็บภาษีสินค้าทั่วโลกออกไป 90 วัน
TNN The Innerview สัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงวิกฤตสมรภูมิภาษีสหรัฐฯ-จีน ที่ทั่วโลกจับตามอง
“สหรัฐฯ ต้องการคานจีน หลังม่านดุลการค้าที่เท่าเทียม”
ผศ.ดร.กัลยา อธิบายว่าแนวคิดเรื่องการกีดกันทางการค้าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับทรัมป์ หากแต่เป็นสิ่งที่เขายึดถือมายาวนาน “ไปหาวิดีโอยูทูปดูก็ได้ ตั้งแต่ยุค 80s เขาก็จะพูดเกี่ยวกับภาษี การกีดกันทางการค้าเสมอ” เพราะทรัมป์เชื่อว่านโยบายลักษณะนี้จะสามารถ “เอางานกลับมา” และ “ปกป้องและพัฒนาอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ” ได้
แต่ในสายตาของนักวิชาการ “แนวคิดของทรัมป์มันมีอะไรที่ผิดรูป หรือผิดทฤษฎีเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศอยู่” ผศ.ดร.กัลยา ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่สามารถย้อนกลับไปเฟื่องฟูเสมือนยุค 1950 ได้อีกแล้ว เพราะตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ก็เริ่มถดถอย และในปัจจุบัน “มีสัดส่วนแค่ประมาณ 10%” เท่านั้น
แม้สหรัฐฯ จะใช้ข้ออ้างว่า “ต้องการดุลการค้าที่เท่าเทียม” แต่ ผศ.ดร.กัลยา มองว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังจริง ๆ ของนโยบายภาษี คือการ “คานจีน” และการใช้การค้าระหว่างประเทศเป็นกลไกต่อรองด้านอำนาจมากกว่าทางเศรษฐกิจแบบเสรี “เมื่อมีนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นก็ดิ่ง เขากลับลำตอนที่เขาเห็นว่าตลาดตราสารหนี้เริ่มดิ่งลง” ซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่าการเปลี่ยนใจของทรัมป์ “ไม่ได้อยู่ในแผนการที่คิดจะกลับลำแต่แรก” แต่อยู่ที่ “การตอบสนองต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังแย่ลง”
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผศ.ดร.กัลยา หยิบยกเหตุการณ์หน้าทำเนียบขาว ซึ่งทรัมป์ไปปรากฏตัวพร้อมรถแข่ง และกล่าวถึงบรรยากาศว่า “ทุกคนกลัว” ด้วยคำพูดประหลาดอย่าง “Yippy” แม้แต่ในวาทกรรมของทรัมป์เอง “เขาเห็นภาพแล้วล่ะว่า ทุกอย่างมันกำลังแย่ลง เขาก็เลยกลับลำ” พร้อมให้เวลา 90 วันกับบางประเทศในการเจรจา ส่วน “ประเทศที่ไม่ได้ต่อรองหรือที่ตอบโต้กลับ อย่างเช่นจีน ก็เจอภาษี” โดยเฉพาะจีนที่ “ตอบโต้กลับ ทรัมป์ก็เลยไม่ยอม”
การต่อรองแบบ “หนึ่งต่อหนึ่ง” หรือ “ทวิภาคี” แทนที่จะใช้กลไกพหุภาคีแบบองค์การการค้าโลก (WTO) คือสิ่งที่ทรัมป์ต้องการอย่างชัดเจน “แต่ต้องเจรจากับสหรัฐฯ แบบที่สหรัฐฯ ต้องการนะ” ซึ่งในความเป็นจริง “มันก็จะไม่มีระเบียบที่ยึดถือร่วมกัน ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ใช้กันทั้งโลก”
“Weaponized Interdependence” – เมื่อการค้ากลายเป็นอาวุธทางอำนาจ
อีกหนึ่งคำสำคัญที่สะท้อนยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐฯ คือ Weaponized Interdependence หรือ “การพึ่งพากันที่ถูกใช้เป็นอาวุธ” ผศ.ดร.กัลยาอธิบายว่า “ความสัมพันธ์ทางการค้าและธุรกิจระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีความซับซ้อนมาก” โดยเฉพาะในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก เช่น “สหรัฐฯ อาจมีบริษัทที่ออกแบบสินค้า แต่ถูกไปผลิตและประกอบที่จีนแล้วขาย” ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ทั้งสองประเทศมีพันธะผูกพันกันแน่นแฟ้น
แต่เมื่อสหรัฐฯ ใช้ข้อได้เปรียบนี้เป็นเครื่องต่อรอง หรือแม้กระทั่งเป็นแรงกดดันให้ประเทศอื่น “ทำตาม” ตัวเอง ก็เปลี่ยนบริบทของระบบการค้าเสรีเดิมโดยสิ้นเชิง “จากระบบที่เคยเปิดและมีระเบียบชัดเจน กลายเป็นระบบที่ไม่แน่นอน ขึ้นกับใครอยู่รอบข้างผู้นำ ณ เวลานั้น”
“WTO ในยุคที่อเมริกาทำลายกฎที่ตัวเองสร้าง”
เมื่อพูดถึง WTO ซึ่งสหรัฐฯ เคยเป็นหัวหอกในการก่อตั้ง ผศ.ดร.กัลยา สะท้อนว่า “สิ่งที่สหรัฐฯ ทำคือการทำลายกลไก WTO” ทั้งที่เป็นองค์กรที่ “มีหลักนิติธรรม ระเบียบ กฎเกณฑ์ทางด้านการค้า” ที่สหรัฐฯ เองเป็นผู้ริเริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
“พอทำลายเนี่ย มันก็ไม่มีระเบียบ” และนั่นทำให้ประเทศอื่น ๆ ต้องต่อรองกับสหรัฐฯ แบบรายประเทศ รายดีล โดยไม่สามารถพึ่งพาระบบระหว่างประเทศได้อีกต่อไป “เอาตรง ๆ ก็คือความอำเภอใจของ ไม่ทรัมป์ ก็คนที่ปรึกษารอบข้างเขา” ซึ่งนั่นคือความเสี่ยงทางโครงสร้างที่กระทบทั้งระบบเศรษฐกิจโลก
“ประเทศเล็กจะทำอะไรได้บ้าง?”
บนกระดานหมากทางเศรษฐกิจโลกที่มีมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนครองกระดาน ประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางอย่างไทยกำลังเผชิญกับทางเลือกที่ยากจะเดินอย่างเสมอภาค หากไม่รู้จักบทบาทและอาวุธที่ตนเองถืออยู่
“มันขึ้นอยู่กับว่า คุณขายอะไรให้กับสหรัฐฯ แล้วคุณมีความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจอย่างไรกับจีน” ผศ.ดร.กัลยาชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ถูก “ซื้อ-ขาย” ไม่ได้มีแค่สินค้า แต่ยังรวมถึงอิทธิพล ความเชื่อมโยง และจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศนั้น ๆ ด้วย “ลองดูประเทศเล็ก ๆ ในภูมิภาคเราที่โดนขึ้นกำแพงภาษี เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา กลับโดนหนักกว่าไทยอีก ทั้งที่พวกเขาแทบไม่มีอำนาจการต่อรองเลย สหรัฐฯ อาจจะมองว่า จีนมีบทบาททางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้สูงเกินไป จึงใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือกดดัน”
ในมุมนี้ “เกมการค้า” ไม่ได้เล่นกันอย่างเสรี แต่ผูกกับความสัมพันธ์ซับซ้อนในห่วงโซ่อำนาจ และประเทศเล็ก ๆ ที่จะเดินเกมให้รอดได้ต้องมีทั้ง “พันธมิตร” และ “วิสัยทัศน์ร่วม”
“ถามว่าอาเซียนสามารถเป็นพลังในการต่อรองได้ไหม? ได้ ถ้ามีผู้นำที่สามารถรวบรวมประเทศสมาชิกเข้าด้วยกันอย่างจริงจัง แต่ความจริงคือ หลายประเทศในอาเซียนยังเอาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นตัวตั้ง แล้วก็ไปเจรจากับสหรัฐฯ กันแบบรายประเทศ” ผศ.ดร.กัลยาหยิบยกตัวอย่างสหภาพยุโรป “EU เขาออกมาพูดชัดเลยว่า ‘ในฐานะ EU’ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับกำแพงภาษีของสหรัฐฯ นี่แหละคือพลังของความเป็นกลุ่ม และการมีจุดยืนเดียวกันในการเจรจา”
แต่ความลำบากของประเทศขนาดกลางยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ผศ.ดร.กัลยา ย้ำว่า “อย่าลืมว่าในเกมนี้ ต่อให้เป็นการเจรจาแบบทวิภาคี เราก็สู้สหรัฐฯ ไม่ได้ เพราะเขาเป็นมหาอำนาจ ต่อรองยังไงก็ไม่เท่าเทียมอยู่ดี และที่สำคัญคือ นโยบายการค้าของทรัมป์มันไม่มีกฎ มันไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบทฤษฎีอะไรทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับความอำเภอใจล้วน ๆ”
อเมริกาเอง…อาจต้องเป็นฝ่ายถอย?
คำตอบของ ผศ.ดร.กัลยา สะท้อนมุมมองที่ไม่ค่อยได้ยินในสื่อกระแสหลักมากนัก “คิดว่า…ต้องถอยแหละ” เธอพูดอย่างตรงไปตรงมา “เพราะถ้าเล่นกันแบบนี้ทั้งสองฝ่ายก็เจ็บกันหมด สหรัฐฯ ก็ไม่มีสินค้าถูกใช้ ส่วนจีนก็ขายไม่ออก…”
อาจารย์อธิบายว่า เมื่อจีนตัดสินใจ “เพิ่มภาษีนำเข้า 125%” และเริ่ม “ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ” ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินสำคัญที่สะท้อนสถานะความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนชี้ชัดว่า จีนไม่เพียงตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ แต่กำลังใช้ “อำนาจจริง” ในการพลิกเกม
“ถ้าเล่นกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันไม่ใช่แค่เรื่องของจีนกับสหรัฐฯ แต่มันจะกลายเป็นว่าประเทศที่ซื้อขายกับทั้งสองประเทศต้องเลือกข้าง แล้วจะเข้าสู่ภาวะแบ่งขั้ว กลายเป็นบล็อกทางการค้า” และสำหรับประเทศเล็กอย่างไทย “จะเลือกข้างใดข้างหนึ่งชัดเจนไม่ได้ เพราะจะเจอทั้งภาษีและการกีดกัน”
เมื่อบทบาทของประเทศมหาอำนาจกำลังเปลี่ยน จาก “คุมเกม” ไปเป็น “ผู้เล่นที่ต้องหาทางประคองตัว” นั่นหมายความว่า เวลานี้อาจเป็น “โอกาส” สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะยื่นข้อเสนอใหม่ต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกที่เคยไม่เป็นธรรมกับพวกเขามาตลอด
เมื่อความปั่นป่วนกลายเป็นโอกาสของประเทศเล็ก
“การที่ทรัมป์ทำลายระเบียบการค้าเสรีแบบเดิม มันเป็นทั้งวิกฤติและโอกาส” ผศ.ดร.กัลยา วิเคราะห์ต่อ “เพราะในที่สุด เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไมระเบียบแบบเก่าไม่เคยให้ประโยชน์กับประเทศเล็ก ๆ จริง ๆ เลย?”
ระเบียบการค้าโลกที่อิงอยู่กับแนวคิดเสรีนิยมใหม่และ WTO กลับกลายเป็นระบบที่ “ประเทศพัฒนาแล้วได้เปรียบตลอด” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎทรัพย์สินทางปัญญา หรือบริการต่าง ๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถแข่งขันได้เลย “ตอนนี้แหละคือจุดเปลี่ยน ที่ประเทศเล็ก ๆ ควรร่วมมือกันเพื่อนำเสนอว่าระเบียบใหม่ควรหน้าตาเป็นอย่างไร”
อาจารย์ยังเสนอว่า การกำหนดกติกาโลกยุคใหม่ควรดึงประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางเพศ และแรงงานเข้ามาเป็น “มาตรฐานกลาง” เพื่อป้องกันไม่ให้ระเบียบเศรษฐกิจโลกตกอยู่ภายใต้อำเภอใจของผู้นำประเทศเดียว
“เพราะสุดท้ายแล้ว…เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทรัมป์เขาใช้ทฤษฎีไหนในการคิดเรื่องการค้า นี่มันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่มันคือการเมืองระหว่างประเทศในยุคที่ทุกอย่างคาดเดาไม่ได้เลย” ผศ.ดร.กัลยา ทิ้งท้าย
คำตอบของ ผศ.ดร.กัลยา จึงไม่ใช่แค่คำอธิบายวิชาการ แต่คือเสียงสะท้อนจากมุมมองที่เข้าใจโครงสร้างเชิงอำนาจ และห่วงโซ่ของผลประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างทะลุปรุโปร่ง พร้อมเสนอว่า หากประเทศเล็กจะยืนอยู่ในเกมนี้ได้ ต้องไม่เล่นตามเกมของคนอื่น แต่ต้องรวมกลุ่มขึ้นมาเป็นผู้ตั้งกติกาเสียเอง