รีเซต

ด่วน! ชงศบค. ยกระดับมาตรการคุมโควิดเท่า เม.ย.63 จำกัดเดินทาง-งดออกเคหสถานโดยไม่จำเป็น

ด่วน! ชงศบค. ยกระดับมาตรการคุมโควิดเท่า เม.ย.63 จำกัดเดินทาง-งดออกเคหสถานโดยไม่จำเป็น
มติชน
8 กรกฎาคม 2564 ( 11:56 )
24
ด่วน! ชงศบค. ยกระดับมาตรการคุมโควิดเท่า เม.ย.63 จำกัดเดินทาง-งดออกเคหสถานโดยไม่จำเป็น

ด่วน! สธ. ชง ศบค. จำกัดการเดินทาง กทม. -ปิดสถานที่ไม่จำเป็น ให้ออกนอกเคหสถานเฉพาะการดำรงชีวิต “ตลาด-ซุปเปอร์-หพบแพทย์-ฉีดวัคซีน”

 

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการสาธารณสุขที่ได้เสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ในการควบคุมการระบาดโควิด-19 ว่า วันนี้เมื่อเวลา 10.00 น. ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอมาตรการต่อที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป ประเด็นสำคัญที่สุด คือ การยกระดับมาตรการทางสังคม ที่สำคัญคือ

 

 

1.เรื่องการจำกัดการเดินทาง อยากให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ไม่ออกจากเคหสถานโดยไม่จำเป็น แต่จะให้ออกไปซื้ออาหาร พบแพทย์ ออกไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และจะมีการเสนอห้ามเดินทางข้ามจังหวัด

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า 2.การปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมด ปิดสถานที่ที่ไม่จำเป็นและสถานที่ที่จะมีคนไปรวมตัวทำกิจกรรมที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะขอให้ปิด โดยจะให้เปิดได้ เช่น ตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต และสถานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งกรมควบคุมโรคจะมีรายละเอียดออกมาต่อไป 3.เสนอให้ใช้มาตรการดังกล่าวใน พื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ซึ่ง สธ. ได้เสนอหลักการของพื้นที่ดังกล่าว และทาง ศบค.จะพิจารณาพื้นที่ดังกล่าว

 

 

 

“กระทรวงสาธารณสุข อยากเร่งเสนอมาตรการสำคัญ เพื่อลดการระบาดของกรุงเทพมหานคร(กทม.) และปริมณฑล ให้ระบบสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการยกระดับมาตรการที่สูงเช่นนี้ เรียกว่าล็อกดาวน์พื้นที่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราไม่ต้องการสร้างความสับสน เพราะเมื่อก่อนจะหมายถึงการป้องกันคนจากต่างประเทศด้วย แต่เนื้อหาคือ การจำกัดการเดินทางและปิดพื้นที่เสี่ยง

 

 

เมื่อถามต่อว่าการจำกัดการเคลื่อนย้ายพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน ประมาณกี่จังหวัด นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เราเสนอหลักการของพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชนเข้าไปที่ ศบค. ให้พิจารณาจังหวัดดังกล่าว คาดว่าจะมีการแถลงรายละเอียดให้ทราบต่อไป

 

 

 

“ศบค.เป็นผู้พิจารณาข้อกำหนด เราให้หลักการว่า หากเราจำกัดการเดินทางและปิดสถานที่เสี่ยง เช่น พื้นที่สีแดง ทำให้คนเดินทางไปพื้นที่อื่น เราจึงใช้ระบบกันชนในการควบคุมโรคที่ผ่านมา เป็นสีเขียว สีเหลืองและสีแดง ซึ่งเราเห็นว่าได้ผลดี เพราะการเดินทางข้ามจังหวัดทำได้ยากขึ้น ดังนั้น มาตรการกันชนก็จะช่วยลดหลั่นการเดินทางมากขึ้น และทางศบค.จะต้องพิจารณาต่อไป” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

 

 

เมื่อถามว่าการจำกัดพื้นที่ ตามมาตรการจะใช้ตลอดทั้งวันหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เสนอมาตรการครั้งนี้ จะมีความเข้มข้นเท่ากับหรือไม่น้อยกว่า มาตรการในเดือน เม.ย.2563

 

 

 

เมื่อถามถึงการประเมินภาพตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ภายหลังการยกระดับใช้มาตรการควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมของมาตรการจะใช้เวลาประเมิน 14 วัน ตามระยะฝักตัวของโรค มาตรการนี้จะต้องอย่างน้อย เท่ากับมาตรการใน เดือนเม.ย.63 และจะมีมาตรการฉีดวัคซีนเข้าไปเสริม และเชื่อว่าหากได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลงใน 2 สัปดาห์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง