รีเซต

โควิด-19 : จีนชูสถิติเลิศซิโนแวค หลังไทยพบบุคลากรการแพทย์ฉีดแล้วยังติด

โควิด-19 : จีนชูสถิติเลิศซิโนแวค หลังไทยพบบุคลากรการแพทย์ฉีดแล้วยังติด
ข่าวสด
11 กรกฎาคม 2564 ( 23:01 )
60
โควิด-19 : จีนชูสถิติเลิศซิโนแวค หลังไทยพบบุคลากรการแพทย์ฉีดแล้วยังติด

 

สถานเอกอัครราชทูตจีนในศรีลังกา ทวีตข้อความตอบโต้รอยเตอร์ที่เสนอข่าวบุคลากรทางการแพทย์ไทยติดเชื้อโรคโควิด-19 หลายร้อยคนแม้จะได้รับวัคซีนซิโนแวคครบทั้งสองโดสแล้วก็ตาม

 

 

ในทวิตเตอร์ของสถานทูตจีนในศรีลังกาที่โพสต์วันที่ 11 ก.ค. มีข้อความเชิงตำหนิสำนักข่าวรอยเตอร์ที่รายงานอ้างกระทรวงสาธารณสุขไทยว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กว่า 600 คนติดโควิดแม้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบถ้วนแล้ว และทางการกำลังพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่เจ้าหน้าที่

 

 

 

ทวิตเตอร์สถานทูตจีนระบุว่า รอยเตอร์นำเสนอตัวเลขดังกล่าวในทางที่อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด พร้อมชี้ว่าควรนำเสนออัตราประสิทธิภาพที่แท้จริงของวัคซีนซิโนแวคมากกว่า

"พยายามดีมากรอยเตอร์ แต่ทำไม่ถึงไม่แสดงอัตราประสิทธิภาพที่แท้จริง (ของวัคซีน) แทนการพาดหัวข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง พวกคุณมีจุดประสงค์อะไรกันแน่"

 

 

ทวิตเตอร์สถานทูตจีนพยายามเทียบข้อมูลให้เห็นถึงจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไทย 677,348 คน ที่ได้รับวัคซีนของซิโนแวคครบ 2 โดสกับจำนวนผู้ติดโควิด 618 คน ที่รอยเตอร์นำเสนอ

 

 

"ซิโนแวค แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ได้ 99.9078% และมีประสิทธิภาพ 99.999% ในการป้องกันการเสียชีวิตและการป่วยรุนแรงให้แก่บุคลากรการแพทย์ในไทย 677,348 คน" ทวิตเตอร์สถานทูตจีนในศรีลังการะบุ

 

 

นักการทูตตะวันตกมองว่า การกระทำเช่นนี้คือส่วนหนึ่งของนโยบาย "การทูตของนักรบหมาป่า" (wolf warrior diplomacy) ซึ่งหมายถึง การที่นักการทูตระดับสูงของจีนตอบโต้ทันควัน แฝงด้วยน้ำเสียงเสียดสี แข็งกร้าว ตรงไปตรงมา ต่อชาติที่กล่าวหาจีนในประเทศที่พวกเขาประจำการอยู่ หรือใกล้เคียง

 

 

ชื่อของ "กองพันหมาป่า" มาจากภาพยนตร์จีนยอดนิยม 2 เรื่อง Wolf Warrior และ Wolf Warrior 2 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ หน่วยรบพิเศษของจีนออกมาปราบปรามสกัดการรุกรานของทหารรับจ้างชาวอเมริกัน และได้รับความนิยมมากในจีน

 

 

ข่าวจากไทย

การตอบโต้มีขึ้น หลังจากไทยแถลงว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดแล้ว 880 ราย แม้ฉีดวัคซีนแล้ว 97%

 

 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อ 11 ก.ค. ยอมรับว่าการระบาดในระลอกเดือน เม.ย. ถึงวันที่ 10 ก.ค. มีรายงานผู้ติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรการแพทย์จำนวน 880 ราย ในจำนวนนั้นราว 19.7% ไม่มีประวัติรับวัคซีนต้านโควิด-19

 

 

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดย 54% เป็นพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล รองลงมาคือ บุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย 28% ตามมาด้วยแพทย์/ทันตแพทย์ (7%) แม่บ้าน (6%) เป็นต้น ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี

 

 

ทั้งนี้ บุคลากรทางแพทย์ได้รับวัคซีนไปแล้วมากว่า 97% จากเป้าหมายทั้งหมดราว 700,000 คน โดยมีรายงานว่ามีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตแล้ว 7 ราย ในจำนวนนั้นไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 5 ราย ได้รับวัคซีนซิโนแวคไม่ครบจำนวน 1 ราย และได้รับวัคซีนซิโนแวคครบโดสอีก 1 ราย

 

 

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่า นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้เห็นความสำคัญของการรับวัคซีน และยังยืนยันว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสป่วยรุนแรงน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ก.ค. จากเดิมที่เป็นสายพันธุ์อัลฟามาเป็นสายพันธุ์เดลตา จึงทำให้การป้องกันโดยวัคซีนโควิด-19 ชนิดชิโนแวคอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าเชื้อเดิม ดังนั้นผู้ที่รับวัคซีนชิโนแวคสองเข็มไปแล้ว โดยเฉพาะบุคลากรทางแพทย์จำเป็นต้องได้วัคซีนกระตุ้นอีกหนึ่งเข็ม

 

 

ต่างประเทศเป็นอย่างไร

เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ อังกฤษ และอิสราเอล รายงานการพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต แม้จะได้รับวัคซีนครบถ้วนจำนวนหลายพันราย

 

 

ในสหรัฐฯ ที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์ และ โมเดอร์นาเป็นหลัก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (ซีดีซี) เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ว่า มีรายงานพบผู้เข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตจากโควิด-19 แม้จะได้รับวัคซีนครบแล้วกว่า 4,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 750 คน และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 3,907 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

 

 

นายเชซี เลวี อธิบดีกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ระบุว่า แม้ประชาชนในอิสราเอลได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 80% แต่กลับพบว่าสายพันธุ์เดลตา มีสัดส่วน 70% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ โดยเขาชี้ว่า 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว

 

 

ความกังวลจากเชื้อกลายพันธุ์เดลตา

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงเล็กน้อยในการต่อสู้กับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์อัลฟา ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร และสายพันธุ์เดลตา ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย

 

 

ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า เชื้อสายพันธุ์เดลตาจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีน 2 โดสของไฟเซอร์ลดลงมาอยู่ที่ 88% จากเดิม 95% แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้ติดโควิดหลังจากได้รับวัคซีนครบแล้วนั้นเป็นผลมาจากเชื้อกลายพันธุ์เหล่านี้หรือไม่

 

 

ปัจจุบัน เดลตาได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในสหราชอาณาจักร จึงทำให้มีความกังวลว่าวัคซีนหลักที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา จะ "เอาไม่อยู่"

 

 

ระหว่าง 1 ก.พ. ถึง 22 มิ.ย. มีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาจำนวน 92,029 ราย ส่วนใหญ่เป็นตัวเลขของ มิ.ย. โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดนี้ 58% ยังไม่ได้รับวัคซีน และเพียง 8% เท่านั้นที่ได้รับครบ 2 เข็มแล้ว เมื่อดูบริบทก็พบว่า ช่วงต้น มิ.ย. นั้น กว่าครึ่งของประชากรผู้ใหญ่ก็รับวัคซีนกันครบ 2 โดสแล้ว

 

 

ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงเดียวกัน มี 117 คนที่เสียชีวิตเพราะสายพันธุ์เดลตา และ 50 คน ในนั้นได้รับวัคซีนครบแล้ว

 

 

นิก ทริกเกิล ผู้สื่อข่าวด้านสุขภาพของบีบีซีบอกว่า แท้จริงแล้ว คนจำนวนมากมายที่ได้วัคซีนครบ ก็ไม่ติด ไม่ตาย เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพ โดยผลการประเมินของ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ที่ออกมาเมื่อ 28 มิ.ย. บ่งชี้ว่าแผนการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ของรัฐบาลนี้ ช่วยป้องกันคนติดเชื้อโควิดได้ 7.2 ล้านคน และช่วยสกัดการเสียชีวิตได้ถึง 27,000 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง