SpaceX ปล่อยดาวเทียม “EARTHCARE” วิจัยสภาพภูมิอากาศโลก
สเปซเอกซ์ (SpaceX) ประสบความสำเร็จในการใช้จรวด ฟอลคอนไนน์ (Falcon 9) ส่งดาวเทียม เอิร์ธแคร์ (EarthCARE) ดาวเทียมสำรวจสภาพอากาศ จากฐานทัพอวกาศในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทำภารกิจศึกษาบทบาทของเมฆ ละอองลอย และรังสี ที่มีต่อระบบภูมิอากาศของโลก เพื่อทำความเข้าใจว่าปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสมดุลพลังงานของโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร
โดยดาวเทียมเอิร์ธแคร์ (EarthCARE - Earth Clouds, Aerosols and Radiation Explorer) เป็นภารกิจดาวเทียม ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
ตัวดาวเทียมมีความยาวรวมแผงโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 17.2 เมตร กว้าง 2.5 เมตร และหนัก 2,200 กิโลกรัม ติดตั้งเครื่องมือ 4 ตัวด้วยกัน ได้แก่
- เรดาร์สำหรับตรวจจับเมฆ เพื่อวัดความสูงและโครงสร้างภายในของเมฆ รวมถึงการเคลื่อนที่ของอนุภาคภายในเมฆ
- ไลดาร์สำหรับตรวจจับชั้นบรรยากาศ เพื่อวัดความเข้มข้นและการกระจายตัวของละอองลอยในชั้นบรรยากาศ รวมถึงความสูงของยอดเมฆ
- กล้องถ่ายภาพหลายสเปกตรัม เพื่อบันทึกภาพเมฆและละอองลอยในหลายช่วงความยาวคลื่น เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพและองค์ประกอบ
- เครื่องวัดรังสีบรอดแบนด์ เพื่อวัดปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่สะท้อนกลับและรังสีอินฟราเรดที่แผ่ออกมาจากโลก
โดยดาวเทียมจะโคจรรอบโลก ที่ระดับความสูงเกือบ 400 กิโลเมตร เป็นเวลาประมาณ 3 ปี และใช้เครื่องมือทั้ง 4 ชิ้นทำงานพร้อมกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านสภาพอากาศ ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการ
ด้วยความสำเร็จในการส่งดาวเทียม EarthCARE ขึ้นสู่วงโคจร โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสำรวจและทำความเข้าใจสภาพภูมิอากาศ ซึ่งข้อมูลที่ EarthCARE รวบรวมได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำไปสู่การพัฒนานโยบายและเทคโนโลยี ที่สามารถปกป้องโลกของเราได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก reutersconnect, apvideohub, newatlas, esa