รีเซต

เทคโนโลยีตรวจสอบและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว I TNN Tech Reports

เทคโนโลยีตรวจสอบและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว I TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2566 ( 17:42 )
82
เทคโนโลยีตรวจสอบและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว I TNN Tech Reports


ปัจจุบันการทำการเกษตรยุคใหม่ นอกจากจะต้องอาศัยองค์ความรู้ แนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตแล้ว  องค์ประกอบหลักที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมล็ดพืช ผลผลิตต่าง ๆให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยหนึ่งในพืชเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ก็คือ ข้าว ซึ่งถือเป็นพืชวิถีชีวิตของเกษตรกรและอาหารหลักของคนไทย ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 ระบุว่า ข้าว เป็นสินค้าเกษตรที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด จำนวน 68 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 46.1% ของพื้นที่การเกษตรในประเทศไทย




ถือเป็นพืชอาหารที่สำคัญของประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน เกินครึ่งหนึ่งของโลก โดยตัวเลขจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า ปริมาณผลผลิตข้าวร้อยละ 90 ของทั้งโลก อยู่ในทวีปเอเชีย ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ ข้าว กลายเป็นพืชเกษตรที่ภาครัฐและเอกชนในไทยให้ความสนใจในการพัฒนา ปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจพืชครบวงจร ในเครือเจริญโภคภัณฑ์


ทำไมต้องมีเทคโนโลยีตรวจสอบและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ?


การตรวจสอบในเรื่องของสายพันธุ์ข้าวมันมีประโยชน์ในเรื่องของการสร้างคุณค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์เอง การที่เกษตรกรจะนำพันธุ์ข้าวไปใช้ปลูก เค้าก็จะต้องมีมาตรฐานในการควบคุมพันธุ์ปน ที่อยู่ในเมล็ดพันธุ์นั้น ๆ ก็จะมีมาตรฐานไม่ให้เกิน 1-2% และในมุมของข้าวสาร ข้าวสารก็จะทำให้สามารถที่จะสร้างคุณค่าได้ เช่น ข้าวหอมมะลิก็จะต้องไม่มีพันธุ์ชนิดอื่นปน หรือไม่มีพันธุ์มาสวมการส่งออกเป็นหอมมะลิ




นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไป มีความต้องการข้าวนุ่ม ข้าวหอมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากความจำเป็นในการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวไม่ให้มีการปะปนหรือสวมพันธุ์ข้าวแล้ว ยังต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้มีความแข็งแรง ต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สภาพอากาศ อุณหภูมิ หรือศัตรูพืช


ในปัจจุบันสภาพแวดล้อม สภาพอากาศต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อน อากาศหนาว อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะทำให้ระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ที่อยู่ในแปลงนาของเราเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นแมลง โรค วัชพืชต่าง ๆ เค้าก็มีการปรับตัว ดังนั้นพันธุ์พืชของเราก็จำเป็นจะต้องพัฒนาเพื่อให้ชนะกับพวกโรค แมลงต่าง ๆ ได้ด้วย 




ประเภทข้าว และประโยชน์จากการพัฒนาพันธุ์


ปัจจุบันไทยมีสายพันธุ์ข้าวอยู่มากกว่า 1,000 สายพันธุ์ โดย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามการใช้ประโยชน์ คือ 


  • กลุ่ม 1 ข้าวเพื่อการบริโภคของคน ประกอบไปด้วย ข้าวเจ้านุ่ม-หอม ข้าวขาวหรือข้าวแข็ง ข้าวเหนียว ข้าวโภชนาการสูงที่มีสารต้านอนมูลอิสระหรือวิตามินต่าง ๆ สูง และข้าวญี่ปุ่น

  • กลุ่ม 2 ข้าวที่นำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ 



โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว จะเป็นผลดีกับ 3 กลุ่มหลัก คือ


  • กลุ่มที่ 1 เกษตรกรหรือชาวนา สามารถนำเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นไปปลูกทดแทนพันธุ์เดิม  เช่น เมล็ดพันธุ์ที่ถูกพัฒนาให้มีความแข็งแรง ต้นไม่หักล้มง่าย และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต รวมถึงเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาให้มีความต้านทานต่อโรคและแมลง ตอบสนองต่อปุ๋ยดี จะช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมี นำไปสู่ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น

  • กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ประกอบการหรือโรงสี โดยเมล็ดข้าวที่มีความแกร่ง ผ่านการขัดสีแล้วยังมีลักษณะดีตามมาตรฐานก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือโรงสีขายได้ในราคาสูงขึ้น

  • กลุ่มที่ 3 คือ เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ที่จะได้รับประทานข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น มีความหอม นุ่ม อร่อย และได้คุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์ให้มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือมีวิตามินชนิดต่าง ๆ



เทคโนโลยีการตรวจสอบพัฒนาสายพันธุ์


ในการตรวจสอบ พัฒนา และปรับปรุงสายพันธ์ุข้าวของธุรกิจพืชครบวงจร จะมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีการง่ายที่สุด เรียกว่า Breeder’s Eye คือ การใช้สายตาและประสบการณ์ของนักปรับปรุงพันธุ์คัดเลือกลักษณะที่ดีที่มองเห็นได้ของต้นข้าวในสภาพแปลง เช่น สีของใบ-ลำต้น  การแตกกอ ปริมาณเมล็ดต่อรวง หรือน้ำหนักเมล็ด เป็นต้น


โดยจะใช้ร่วมกับอีกวิธีที่ทันสมัย ก็คือการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ หรือไบโอเทคโนโลยี ที่หมายถึงการนำเอาสิ่งมีชีวิตหรือชิ้นส่วน เช่น พืช สัตว์ จุลินทรีย์ เข้ามาสร้างสิ่งใหม่  มาช่วยในการประเมินการคัดเลือกพันธุ์ข้าวให้มีความแม่นยำและประสบความสำเร็จเร็วขึ้น




และเทคโนโลยีที่เราเอามาประยุกต์ใช้อีก 1 เทคโนโลยี คือการใช้เครื่องหมายโมเลกุล หรือในปัจจุบันมีการใช้ที่เรียกว่าลายพิมพ์ DNA หรือ DNA Fingerprint เทคโนโลยีนี้คือเปรียบเสมือนบัตรประชาชนของพันธุ์พืชนั้น ๆ เราก็ไปใช้เครื่องหมายโมเลกุลต่าง ๆ ในการตรวจสอบว่าเป็นพันธุ์พืชนี้อยู่หรือไม่ได้


ซึ่งหลังจากทราบผลของปริมาณสารพันธุกรรมในข้าวแต่ละสายพันธุ์แล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาต่อไปโดยนักปรับปรุงสายพันธุ์ ตามจุดประสงค์ของการพัฒนาจุดเด่นข้าวแต่ละสายพันธุ์ เช่น ปรับปรุงความนุ่ม ความหอม หรือเพิ่มผลผลิต เช่น หากต้องการทำพันธุ์ข้าวให้มีโปรตีนที่สูงขึ้น จากเดิมที่ข้าวทั่วไปหรือข้าวเปลือกมีโปรตีนประมาณ 7% การพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ก็สามารถที่จะเพิ่มโปรตีนเป็น 11-12%




เป้าหมายการตรวจสอบและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว


เป้าหมายของการพัฒนาสายพันธุ์มีอยู่ 2 ประการ คือ

1. ต้องการที่จะได้พันธุ์พืชใหม่ ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม 

2. เติมเพียงบางลักษณะ เข้าไปในพันธุ์เดิมที่ดีอยู่แล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิ เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมและมีคุณภาพของการหุงต้มที่ดีอยู่แล้ว แต่ผลผลิตยังต่ำอยู่ ก็อาจจะเติมในลักษณะของผลผลิตหรือเรื่องความต้านทานโรคให้ดียิ่งขึ้น




ปัจจุบัน ในท้องตลาด มีสายพันธุ์ข้าวที่เกิดจากการพัฒนาของธุรกิจพืชครบวงจรอยู่หลายผลิตภัณฑ์ เช่น 


  • ข้าวเหนียว พันธุ์ซีพีไรซ์ 888 มีลักษณะเด่นคือเมล็ดข้าวสารยาว มีความนุ่ม หอม ต้นเตี้ย ไม่ล้ม ข้าวไม่ไวต่อแสง ให้ผลผลิตสูงถึง 1,700 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าพันธุ์ทั่วไปที่ให้ผลผลิตเพียง 700 - 800 กิโลกรัมต่อไร่

  • ข้าวเจ้านุ่ม-หอม พันธ์ุเบญจมณี 1 เป็นข้าวเจ้านุ่มมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ต้นเตี้ย ไม่ล้ม เก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตสูงถึง 1,300 กิโลกรัมต่อไร่                    

  • ข้าวในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ก็มีพันธ์ุเบญจมุก 2 เป็นพันธ์ุข้าวที่ใช้ข้าวเปลือกหรือข้าวกล้อง มีผลผลิตสูง 1,400 กิโลกรัมต่อไร่  อายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 100-105 วัน ต้นเตี้ย ไม่ล้ม มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสาหรับการเลี้ยงสัตว์



ข้าวไทยในเวทีโลก 


ด้วยมูลค่ามหาศาลของอุตสาหกรรมข้าวทั่วโลกที่มากกว่าแสนล้านบาท ทำให้หลายประเทศได้เร่งการพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาตัวผลผลิต  คุณภาพของข้าวสาร หรือคุณภาพการหุงต้มที่ดียิ่งขึ้น


รวมถึงประเทศไทยเอง ที่แม้จะมีความสามารถในการส่งออกข้าวได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ในปี 2564 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ในอันดับที่ 3 ของโลก ปริมาณ 6.11 ล้านตัน ด้วยมูลค่ากว่า 1.07 แสนล้านบาท เป็นรองเพียงอินเดีย และเวียดนาม


แต่อย่างไรก็ตาม ไทยเราก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกต่อไป โดยมีกุญแจสำคัญคือ ตอบโจทย์ความต้องการทั้งกับผู้บริโภคข้าวทั่วโลกที่เปลี่ยนพฤติกรรมไปได้อย่างทันท่วงที  รวมถึงตอบโจทย์เกษตรกรชาวนาไทยที่ต้องการพันธุ์ข้าวแข็งแรง และคุ้มค่าการลงทุน 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง