รีเซต

เทคโนโลยีดิจิทัล มิตรหรือศัตรูของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก?

เทคโนโลยีดิจิทัล มิตรหรือศัตรูของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก?
TNN ช่อง16
15 ตุลาคม 2564 ( 17:06 )
83
เทคโนโลยีดิจิทัล มิตรหรือศัตรูของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก?

แต่เทคโนโลยีโลกดิจิตัล จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่ นอกจากสร้างปัญหาอย่างที่เราเข้าใจกัน ลองมาติดตาม 5 ทางออก ที่เทคโนโลยีสามารถช่วยลดผลกระทบที่จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ ก่อนถึงการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน


◾◾◾

🔴 ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence)


หนึ่งในหัวข้อสำคัญที่จะพูดคุยกันในที่ประชุม COP26 คือประเทศต่าง ๆ พร้อมจะผลักดันโรดแม็พ ในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ทราบกันดีว่าการทำงานของ AI การคำนวณที่ซับซ้อนจากคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลัง ซึ่งจะต้องกินพลังงานอย่างมหาศาล จากข้อมูลของนักวิจัยมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์ในสหรัฐฯ พบว่า การฝึกใช้ระบบอัลกอริทึ่ม AI เพียงชุดเดียว จะต้องใช้พลังงานมากถึงเกือบ 5 เท่าของควันเสียที่รถยนต์ 1 คันปล่อยออกมาตลอดอายุการใช้งาน


แต่ AI ก็กำลังมีส่วนช่วยในการกระบวนการด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือง่าย ๆ ก็คือทำการคำนวณที่มนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ทำไม่ได้, บริษัทที่ปรึกษา PwC ประมาณการว่า ปัจจุบันนี้ มีการใช้ AI อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมสำคัญ 4 ชนิดหนัก รวมถึงภาคการเกษตรและการคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 4%


ปีเตอร์ คลัตตัน-บล็อก ผู้ร่วมก่อตั้ง Centre for AI and Climate บอกว่า AI ไม่ใช่ ‘ยาวิเศษ’ ที่ช่วยพลิกฟื้นแก้ปัญหาโลกร้อนได้ในชั่วข้ามคืน แต่ก็ยอมรับว่ามีแอปพลิเคชั่นหลายรูปแบบของ AI ที่ถือว่าน่าสนใจและมีประโยชน์ในการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึง AI ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลการตัดไม้ทำลายป่าและการละลายของทะเลที่เป็นน้ำแข็ง ไปจนถึงการวิเคราะห์ว่า พื้นที่ใดที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นพื้นที่ต่อไป


◾◾◾

🔴 แอปพลิเคชั่นและเสิร์จเอ็นจิ้น


หลายคนอาจจะแย้งว่า คนแค่คนเดียวจะส่งผลกระทบอะไรมากมาย แต่คนที่เป็นห่วงเป็นใยโลกใบนี้ ก็จะมีแอปพลิเคชั่นหลายตัว เพื่อใช้ตรวจสอบว่า การใช้งานแอปพลิเคชั่นและเสิร์จเอ็นจิ้นของพวกเขา ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากน้อยแค่ไหน


แอปพลิเคชั่นหลายตัวออกแบบมาเพื่อคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการขับรถหรือโดยสารเครื่องบินในแต่ละครั้ง หรือบางแอปพลิเคชั่น ก็ช่วยให้นักช็อปปิ้ง สามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าที่สนใจอยากซื้อนั้น มีข้อมูลด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน


เมื่อสัปดาห์ก่อน Google เพิ่งเพิ่มข้อมูลของการใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับขี่ยวดยานสามารถทราบถึงเส้นทางที่ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากที่สุด รวมถึงแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเที่ยวบินแต่ละเที่ยวที่ใช้เดินทางด้วย


ขณะเดียวกัน อีโคเซีย (Ecosia) เสิร์จเอ็นจิ้นอีกแห่ง ก็นำผลกำไรที่จากค่าโฆษณา มาเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดเทน ซึ่งจนถึงตอนนี้ โครงการนี้ช่วยปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 135 ล้านต้น


◾◾◾

🔴 ทำงานทางไกล


การเปลี่ยนมาทำงานทางไกลช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า? นักวิจัยอาจบอกว่ายังไม่ชัดเจน


ปีที่แล้ว การเดินทางของผู้คนทั่วโลกลดลงอย่างมากการการระบาดของโควิด-19 จนถูกยกย่องว่ามีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล จนเหมือนกับโลกทั้งโลกหยุดนิ่งไปชั่วขณะ


แต่การทำงานออนไลน์ ก็ยังหมายถึงว่าผู้คนต้องใช้แหล่งพลังงานจากที่บ้าน ซึ่งหากเป็นช่วงฤดูหนาว แค่ค่าใช้จ่ายในการให้ความอบอุ่นของที่บ้านพนักงานแต่ละหลัง ก็น่าจะมากกว่าออฟฟิศทั้งออฟฟิศ ที่พนักงานทำงานรวมกันทั้งบริษัทอยู่แล้ว


องค์การพลังงานระหว่างประเทศ พบว่าถ้าพนักงานออฟฟิศทั้งโลกพร้อมใจกันทำงานที่บ้าน 1 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกลงได้ถึง 24 ล้านตัน หรือพอ ๆ กับที่กรุงลอนดอนปล่อยออกมาตลอดทั้งปี และพนักงานที่ต้องขับรถไกลเพื่อเดินทางไปทำงาน ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากหากทำงานอยู่ที่บ้าน


แต่ก็ยังให้ข้อมูลว่า หากต้องขับรถไปทำงานระยะทางไม่ถึง 6 กิโลเมตรในแต่ละวัน เมื่อเทียบกับทำงานอยู่บ้านแล้ว ออกมาทำงานนอกบ้านน่าจะช่วยรักษ์โลกได้มากกว่า


◾◾◾

🔴 Cloud Computing


หลายปีที่ผ่านมา เกิดความกังวลกันว่า บริษัทจัดเก็บข้อมูลยักษ์ใหญ่ที่ล้วนแต่ใช้พลังงานมหาศาล อาจกลายเป็นตัวหลักสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก


แต่ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Science เมื่อปีที่แล้ว พบว่าข้อวิตกกังวลนี้เป็นเรื่องที่เกินจริงไปมาก ซึ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็มาจากประสิทธิภาพของ Cloud Computing หรือเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการแบบเครือข่ายออนไลน์


จนถึงปี 2018 บริษัทและศูนย์จัดเก็บข้อมูลยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกเพียงแค่ 1% แม้ความต้องการด้านการจัดเก็บข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ซึ่งต้องขอบคุณ Cloud Computing ที่ช่วยให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหลายประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าไปได้มากโข


ยกตัวอย่างเช่น Google ที่ใช้ AI ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านให้ความเย็นตามศูนย์จัดเก็บข้อมูลของบริษัทได้มากถึง 40%


◾◾◾

🔴 เมืองอัจฉริยะ


สหประชาชาติคาดการณ์ว่า เมืองต่าง ๆ ทั่วโลก มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 70% และยิ่งจำนวนประชากรตามเมืองใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การออกแบบเมืองให้สามารถใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำเป็นอันดับแรก


แต่ในตอนนี้ Internet of Things (IoT) หรือการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล และช่วยให้เราสามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ ก็ถูกนำมาใช้เพื่อออกแบบเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะเรียบร้อยแล้ว


ยกตัวอย่างเช่น โครงการนำร่องที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ใช้ Internet of Things ช่วยนำทางผู้ขับขี่ยวดยาน ในการหาที่จอดรถที่ยังว่าง ๆ ช่วยลดเวลาในการขับหาที่จอดรถวนทั้งเมืองไปได้มากโข

—————

เรื่อง: ชายแดน คล้ายไกลทอง

ภาพ: Marvin Meyer


ข่าวที่เกี่ยวข้อง