รีเซต

ส่องกำลังทางอากาศ อิหร่าน และ อิสราเอล ! ประชันเทคโนโลยีโจมตีและป้องกัน

ส่องกำลังทางอากาศ อิหร่าน และ อิสราเอล ! ประชันเทคโนโลยีโจมตีและป้องกัน
TNN ช่อง16
19 เมษายน 2567 ( 12:39 )
58

ช่วงกลางดึกของวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่นของอิสราเอล อิหร่านได้ปล่อยโดรนติดระเบิด หรืออีกชื่อว่าโดรนกามิกาเซ่ (Kamikaze drone) กว่า 170 ลำ ขีปนาวุธ (Ballistic missile) 120 ลำ รวมไปถึงจรวดแบบร่อน (Cruise missile) กว่า 30 ลำ โจมตีดินแดนอิสราเอลโดยตรง 


แม้ว่าตามรายงานของสื่อที่อิงจากประกาศของฝั่งรัฐบาลอิสราเอลจะระบุว่าการโจมตีทางอากาศของอิหร่านนั้นถูกสกัดกว่าร้อยละ 99 แต่ก็ไม่ได้ความว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นเรื่องง่ายในการป้องกันของอิสราเอลเช่นกัน เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และจอร์แดน


เทคโนโลยีโจมตีทางอากาศของอิหร่าน

อิหร่านมีความก้าวหน้าในการพัฒนาโดรนติดอาวุธ ซึ่งมีหลากหลายรุ่นที่เปิดตัวในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ได้แก่ โดรนติดอาวุธ รุ่นชาฮีด 149 กาซา (Shahed 149 Gaza) มีปีกกว้าง (Wingspan) ประมาณ 20 เมตร มีความสามารถในการเชื่อมต่อดาวเทียม (Satellite link) และมีพิสัยบิน 2,000 กิโลเมตร ความเร็ว 340 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับการติดตั้งระเบิดนำวิถีจำนวน 13 ลูก และโดรนรุ่น มะฮาจร์-10 (Mohajer-10) ที่มีพิสัยการบินรบ 2,000 กิโลเมตร รองรับการติดตั้งระเบิดน้ำหนักไม่เกิน 300 กิโลกรัม และบินได้ต่อเนื่องถึง 24 ชั่วโมง 


ส่วนขีปนาวุธที่อิหร่านใช้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น เซลซีล์ (Sejil) ที่มีระยะการยิงกว่า 2,500 กิโลเมตร ซึ่งร่อนข้ามมาด้วยความเร็วกว่า 17,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในชั้นบรรยากาศ ตามการกล่าวอ้างของอิหร่าน และอีกหลายรุ่นที่อิหร่านใช้ ซึ่งบางรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวไปนั้นมีความเร็วเหนือเสียง 5 เท่า หรือมากกว่า 5,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ Cruise missile แบบ Kh-55 ที่มีความเร็วประมาณ 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะการยิง 3,000 กิโลเมตร


เทคโนโลยีป้องกันทางอากาศของอิสราเอล

เทคโนโลยีการโจมตีทางอากาศของอิหร่านส่งผลให้อิสราเอลเองก็ต้องพัฒนาระบบการรับมือทางกาศเช่นกัน ซึ่งตามรายงานจากฝั่งสหรัฐฯ ระบุว่าการสกัดจรวด ขีปนาวุธ และโดรนติดอาวุธต่าง ๆ ในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา เกิดขึ้นนอกเขตแดนอิสราเอล โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำในการสกัดด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-15E พร้อมความร่วมมือจากชาติพันธมิตร 


ทั้งนี้ อิสราเอลมีการป้องกันทางอากาศ 2 วิธี คือการสกัดกั้นด้วยจรวดต่อต้านภัยทางอากาศภาคพื้นดิน และการยิงจรวดแบบอากาศสู่อากาศ (Air-to-air missile) โดยเครื่องบินขับไล่ 2 รุ่น ได้แก่ เครื่องบินขับไล่แบบ F-15E และแบบ F-35I ซึ่งเป็นรุ่น (variant) ที่ผลิตพิเศษของ F-35 สำหรับอิสราเอล ซึ่งทั้ง 2 รุ่น ติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศแบบ ไพธอน-5 (Python-5) รุ่นล่าสุดของอิสราเอล ในการยิงทำลายโดรนและจรวด Cruise Missile โดยสามารถไล่ตามเป้าหมายด้วยความเร็วสูงสุด 4 มัค หรือประมาณ 4,900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมระบบติดตามเป้าหมายแบบอินฟราเรด (Optic IR)


ส่วนระบบต่อต้านภัยทางอากาศภาคพื้นดิน แม้ว่าภาพจำระบบดังกล่าวของอิสราเอลอาจจะนึกถึงไอออนโดม (Iron Dome) แต่ระบบดังกล่าวเป็นเพียงระบบต่อต้านภัยระยะใกล้ในเขตชายแดนของอิสราเอลเท่านั้น เพราะอิสราเอลยังมีระบบที่ป้องกันอากาศอีกหลายชั้น เช่น ระบบเดวิดส์ สลิง (David’s Sling) ที่รัศมีการป้องกันที่ 300 กิโลเมตร และระบบแอร์โรว์ 3 (Arrow 3 System) ที่เป็นหัวใจสำคัญในการต่อต้านขีปนาวุธที่มีรัศมีป้องกันประมาณ 2,400 กิโลเมตร ในขณะที่ระยะระหว่างกรุงเทลอาวีฟกับกรุงเตหะรานมีระยะห่างประมาณ 1,600 กิโลเมตร


โดยการปฏิบัติการทางการทหารในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านที่เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น พร้อมความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยังดำเนินอยู่ในตอนนี้ ทั้งนี้ มีรายงานจากสำนักข่าวเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) ว่าการสกัดกั้นการโจมตีในครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 20,200 ล้านบาท


ข้อมูลจาก Interesting Engineering, New York Times, Wikipedia, Wall Street Journal, Washington PostIran PressIran International - EnglishWired

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง