รีเซต

'ศิริกัญญา' ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบค่าครองชีพคนไทย ฉะ รบ.ต้องแก้ปัญหาพลังงานให้ถูกจุด

'ศิริกัญญา' ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบค่าครองชีพคนไทย ฉะ รบ.ต้องแก้ปัญหาพลังงานให้ถูกจุด
มติชน
9 มีนาคม 2565 ( 13:03 )
59
'ศิริกัญญา' ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบค่าครองชีพคนไทย ฉะ รบ.ต้องแก้ปัญหาพลังงานให้ถูกจุด

‘ศิริกัญญา’ ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบค่าครองชีพคนไทย แนะรัฐบาลต้องกล้ายอมรับความจริง ตรึงราคาดีเซล 30 บาทไม่ได้ ฉะต้องแก้ปัญหาพลังงานให้ถูกจุด ไม่ใช่บอกให้ประชาชนประหยัด

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 มีนาคม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงกรณีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบค่าครองชีพคนไทยว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน กำลังจะส่งผลกระทบต่อรายได้และค่าครองชีพของประชาชนอย่างมหาศาล ตอนนี้ราคาพลังงานพุ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปีเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากรัสเซียส่งออกน้ำมันมายังตลาดโลกเป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย และยังส่งออกแก๊สธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป

 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐ เพิ่งประกาศแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ประเทศในยุโรปก็กำลังจะมีมาตรการลดการนำเข้าแก๊สธรรมชาติลง 2 ใน 3 ตลอดปี 2565 ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมหาศาล จึงมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจขึ้นไปแตะที่ 185-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ตนคิดว่าอาจจะถึงจุดที่รัฐบาลต้องกล้าออกมายอมรับความจริงกับประชาชนแล้วว่า สัญญาที่ได้ให้ไว้ว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท อาจจะทำไม่ได้จริง ปัจจุบันในแต่ละเดือนต้องใช้เงินในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจีจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ถ้ายังจะคงน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ต้องใช้เงินอุดหนุนประมาณ 10 บาทต่อลิตร รวมประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าราคาน้ำมันยังคงยืนระยะที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาเรลตลอดทั้งปี และเรายังพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็อาจจะต้องใช้เงินกว่า 2 แสนล้านบาท

“ทางเลือกของเรื่องนี้อาจจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิตต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณปี 2565 อย่างแน่นอน ทางออกอีกทางคือการแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) มีข่าวจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่า แผนการที่วางไว้สำหรับน้ำมันดีเซลอาจจะอยู่ได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ตนจึงมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างถูกจุด ปัญหาคือถ้ารัฐบาลรอจนเงินหมดหน้าตัก แล้วปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัวทันที จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักมาก รัฐบาลควรจะต้องมีแผนการในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจนว่าจะทยอยขึ้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน จากนั้นจะต้องมีการอุดหนุนค่าครองชีพไปที่ครัวเรือนโดยตรง แทนที่จะอุดหนุนไปที่ราคาพลังงาน เพราะความจริงแล้วกลุ่มคนที่มีรายน้อยหรือคนจนจะใช้น้ำมันเบนซินมากกว่า แต่ความช่วยเหลือยังอยู่ที่ดีเซลอย่างเดียว การเปลี่ยนมาอุดหนุนเป็นค่าครองชีพให้ประชาชนโดยตรงก็จะได้ประโยชน์กับผู้ใช้ทั้งเบนซินและดีเซล หากกังวลเรื่องผลกระทบต่อราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากค่าขนส่งก็ให้อุดหนุนตรงไปที่ภาคขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์หรือรถบรรทุก ทำให้รัฐบาลน่าจะสามารถกำหนดวงเงินช่วยเหลือได้ชัดเจนแม่นยำมากยิ่งขึ้น

“ดังนั้น ทางออกเรื่องราคาพลังงานคงไม่ใช่การออกมาบอกให้ประชาชนประหยัดพลังงานด้วยตนเอง ถ้าจะออกมาบอกแค่ว่าต้องประหยัดพลังงาน ต้องประหยัดการใช้ไฟ ล้างแอร์ เราก็ไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลไว้ทำไม เราต้องการการมองการณ์ไกล วิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาที่จะไม่ทำให้ประเทศถังแตก และสามารถที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุดตรงเป้ามากยิ่งขึ้น ยอมรับความจริง พูดความจริงกับประชาชนว่าจะไม่สามารถรักษาสัญญาไว้ได้แล้ว และดำเนินการให้ประชาชนสามารถประคับประคองการใช้ชีวิตได้ และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในส่วนปัญหาราคาอาหารสัตว์ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ภายหลังเกิดสงคราม ราคาสินค้าทั้งสองชนิดก็สูงขึ้นมาก ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าแล้ว ส่วนราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ตอนนี้ตลาดในประเทศไทยวัตถุดิบเริ่มขาดแคลน โรงงานอาหารสัตว์รายเล็กรายย่อยบางส่วนเริ่มทยอยปิดตัว ถ้าสงครามยังดำเนินต่อไปและราคายังไม่ลดลง สุดท้ายต้นทุนก็จะมาตกอยู่กับเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ และจะส่งผ่านมาที่ราคาอาหารสดอีกระลอก ซึ่งอาจจะไม่รุนแรงเหมือนกรณีราคาหมู แต่จะส่งผลกระทบแน่นอนกับราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า นอกจากนี้รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ ตอนนี้ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้ประกาศแบนการส่งออกปุ๋ยเคมีแล้วเช่นกัน ซึ่งจะซ้ำเติมไปที่ต้นทุนของเกษตรกรและกดดันรายได้ของเกษตรกรให้ตกต่ำลงไปอีก ดังนั้น จึงขอวิงวอนไปยังรัฐบาลให้ทบทวนเรื่องการคำนวณต้นทุนสินค้าเกษตรต่างๆ ที่จะใช้ในการคำนวณราคาประกันตามโครงการประกันรายได้ และต้องมีมาตรการอื่นๆ ตามมาเพื่อบรรเทาปัญหาของเกษตรกร

น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า สำหรับภาคท่องเที่ยวที่กำลังจะฟื้นตัวหลังจากการประเทศประเทศเมื่อปลายปี 2564 ก็กำลังจะประสบปัญหา เนื่องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามาในประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ แต่เพราะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ มีการระงับการใช้วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดที่ออกโดย 7 แบงก์ใหญ่ของรัสเซีย ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความกังวลใจเป็นอย่างมากว่าจะได้รับการชำระเงินตามปกติหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่าทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เสนอมาตรการต่างๆ ที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหา เช่น การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ตกค้างจากเที่ยวบินเพื่อส่งกลับ การหาทางเลือกในการชำระเงินผ่านยูเนียนเพย์ แต่ปัญหาคือมติ ครม.ยังไม่มีการเห็นชอบมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการยังคงเคว้งคว้างว่าจะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง