รีเซต

‘อีคอนไทย’ มองอุตสาหกรรมส่งออกวูบต่อเนื่อง แรงงานจ่อถูกเลิกจ้างเพิ่ม 1.5 ล้านราย

‘อีคอนไทย’ มองอุตสาหกรรมส่งออกวูบต่อเนื่อง แรงงานจ่อถูกเลิกจ้างเพิ่ม 1.5 ล้านราย
มติชน
25 กรกฎาคม 2563 ( 11:55 )
48
‘อีคอนไทย’ มองอุตสาหกรรมส่งออกวูบต่อเนื่อง แรงงานจ่อถูกเลิกจ้างเพิ่ม 1.5 ล้านราย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวมากที่สุด โดยครึ่งปีแรกหดตัวกว่า 43% เพราะกำลังการผลิตลดลงเหลือ 1 ในส่วน 4 เท่านั้น แต่ความจจริงแล้วธุรกิจประเภทอื่นในอุตสากรรมก็หดตัวลงไม่แตกต่างกัน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของซัพพลายเชนทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่หดตัวลงแรง เพราะภาคการส่งออกไทย ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา การส่งออกติดลบ -23% ซึ่งคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะติดลบ -7% ส่วนในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็มองว่ายังไม่ดีขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงกดดันอย่างต่อเนื่อง มีเพียงการส่งออกอาหาร เครื่องมือแพทย์ และถุงมือยางเท่านั้นที่ยังเติบโตได้สูง ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรม 3 ใน 4 หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562

 

นายธนิตกล่าวว่า ทิศทางครึ่งปีหลัง ภาพรวมยังไม่สดใสต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เพราะเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ซึ่งการที่โควิด-19 ยังไม่จบลง แบบที่ยังไม่สามารถค้นพบวัคซีนต้านไวรัสได้ เศรษฐกิจก็ยังมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการเพิ่มสภาพคล่องของหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) ที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบกว่า 7.5 ล้านยูโร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากกำลังซื้อหดตัวกันทั้งโลก การเดินทางไม่เกิดขึ้น อย่างในประเทศไทยก็ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (แทรเวล บับเบิล) ทำให้คาดว่าแรงงานในภาคบริการจะซึมตัวยาว แม้จะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศผ่านโครงการต่างๆ แต่ไม่สามารถชดเชยเม็ดเงินที่หายไปได้ โดยประเมินว่าในช่วงวันหยุดยาวนี้ ใช้จ่ายสูงสุด 30,000-50,000 ล้านบาท แต่เม็ดเงินที่หายไปรวมทั้งตลาดต่างชาติและตลาดไทยเที่ยวไทยหายไป 2.1 ล้านล้านบาท ต่างชาติหายไป 1.6 ล้านล้านบาท ความเสียหายจึงเทียบกันไม่ได้ รวมถึงการส่งออกที่จะหายไป 7 แสนล้านบาท และการนำเข้าที่เม็ดเงินจะหายไปไม่แตกต่างกัน

 

“สำหรับปัญหาแรงงานที่ประเมินว่าตกงานสะสมอยู่ที่ 3-4 ล้านคน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเปราะบางจากธุรกิจที่ขอหยุดจ้างชั่วคราว ประมาณ 7,000 แห่ง ซึ่งมีแรงงานอยู่ประมาณ 1,500,000 คน ที่หากสภาพคล่องลดลงอีก จากขณะนี้ที่เหลือน้อยมากแล้ว ก็อาจทำให้มีแรงงานถูกเลิกจ้างมากขึ้น รวมถึงแรงงานที่ยังถูกจ้างงานตามมาตรการช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคม ที่มีความเสี่ยงว่า หากหมดการช่วยเหลือของประกันสังคมแล้ว อาจถูกเลิกจ้างถาวรได้” นายธนิตกล่าว

 

นายธนิตกล่าวว่า สำหรับแผน การพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ 4 มิติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของกระทรวงการคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ แบ่งสัดส่วนการขนส่งผ่านทางบก 80% ทางน้ำ 7% ที่เหลือเป็นทางราง ส่วนทางอากาศมีการใช้บริการน้อยมาก ทำให้การขนส่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในทางบกผ่านถนนเส้นต่างๆ 85-90% เท่านั้น โดยการปรับเปลี่ยนมาขนส่งทางน้ำเริ่มใช้บริการมากขึ้น แต่ต้นทุนการขนส่งมีราคาสูง รวมถึงท่าเรือที่ใช้ขนส่งทางน้ำ ไม่ได้มีการพัฒนามากนัก เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความนิยมมากกว่า ทำให้การขนส่งทางบกได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะถนนสามารถไปได้ในทุกเส้นทาง และใช้ต้นทุนจริงน้อยกว่าการขนส่งในรูปแบบอื่น ความจริงการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ ก็พูดถึงการพัฒนาแบบนี้มากว่า 20 ปีแล้ว ความคืบหน้าไม่ได้แตกต่างมากนัก ที่เห็นความก้าวหน้าจริงๆ เป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงต่างๆ แต่การขนส่งโลจิสติกส์ต้องเป็นการขนส่งสินค้า ไม่ใช่พัฒนาเพื่อขนส่งคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง