รีเซต

สาวกพลังใบต้องรู้! เปิด 4 ขั้นตอน เคี้ยว "ใบกระท่อม" อย่างถูกวิธี

สาวกพลังใบต้องรู้! เปิด 4 ขั้นตอน เคี้ยว "ใบกระท่อม" อย่างถูกวิธี
TNN ช่อง16
8 มิถุนายน 2565 ( 16:51 )
279

"กระท่อม" (Kratom) หรือ Mitragyna speciosa (Korth.) HaviL. เป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ Rubiaceae ถูกนำมาใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านมานานหลายร้อยปีแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

"พืชกระท่อม" เป็นพืชที่พบมากทางใต้ของประเทศไทย ไปจนถึงเขตชายแดน นิยมเคี้ยวใบสด หรือ ต้มเป็นชา เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้โดยไม่เมื่อยล้า ซึ่งในประเทศไทยมีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แต่เดิมประเทศไทยจัดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในปัจจุบันได้มีการพิจารณาผ่านรัฐสภาและมีมติปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา 

ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก หรือซื้อ ขาย ใบสด ที่ไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารได้โดยไม่ผิดกฎหมาย กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลางเป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้กันมาอย่างยาวนาน 

โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา เพื่อให้มีแรงทำงานได้นานขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน

ในคนที่รับประทานใบกระท่อมเป็นครั้งแรก อาจจะมีอาการมึนงง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน หากใช้ในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดอาการเมา เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อทรงตัว ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ลดลง 

เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ในรายที่ใช้มาก ๆ หรือใช้มาเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้มีผิวสีคล้ำและเข้มขึ้น

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เปิด 4 ขั้นตอน ในการเคี้ยวใบกระท่อมที่ถูกวิธี ดังนี้

1. นำใบกระท่อมสดมาล้างน้ำให้สะอาด และนำไปผึ่งให้สะเด็ดน้ำ

2. ลอกก้านใบออก โดยการลอกก้านใบกระท่อมนั้น มี 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 ลอกเส้นใบออกในลักษณะเป็นรูปก้างปลา จากนั้นลอกเส้นกลางใบออก ให้เหลือเพียงเนื้อใบ

วิธีที่ 2 ลอกเฉพาะส่วนเนื้อใบ เพื่อนำมาเคี้ยว

3. เคี้ยวใบกระท่อมให้ละเอียด ดูดกลืนน้ำ

4. คายกากทิ้ง แล้วดื่มน้ำตาม

ทั้งนี้ การเคี้ยวใบกระท่อมสด ควรลอกก้านใบและเส้นกลางใบออกก่อนนำมาเคี้ยว หากไม่รูดก้านใบออกจากตัวใบ และกลืนกากกระท่อม อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "ถุงท่อม" ในลำไส้ ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องและทำให้ปวดท้องได้ และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ



ข้อมูลจาก สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง