“หมูไทย” หัวใจเศรษฐกิจฐานราก 10 ล้านคน

“หมูไทย” ไม่ใช่แค่เนื้อสัตว์บนจานอาหาร แต่คือเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
จากข้อมูลพบว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยมีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 70 ของเม็ดเงินในระบบ มาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าแรง ค่าไฟ ถือเป็นการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ เท่ากับว่าเม็ดเงินกว่า 140,000 ล้านบาทหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และแรงงานทั่วประเทศ
แต่หากมีการเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา รายได้ภายในประเทศกว่า 70,000 ล้านบาทจะหายไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจฐานราก และอาจกระเทือนถึงระบบความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งเมื่อเสียไปแล้ว อาจยากต่อการฟื้นฟูกลับคืน
ความสำคัญของอุตสาหกรรมหมูไทย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงลึกซึ้งไปถึงมิติทางสังคม และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ด้วยมูลค่าอุตสาหกรรมที่สูงถึง 200,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกว่า 144,000 ราย และมากกว่าร้อยละ 90 เป็นเกษตรกรรายย่อย
นอกจากนี้ ยังมีผู้คนในห่วงโซ่อุปทานอีกนับล้าน ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงหมู ผู้ผลิตอาหารสัตว์ โรงเชือด โรงงานแปรรูป ไปจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และพืชวัตถุดิบอื่น ๆ รวมแล้วมากกว่า 10 ล้านคน ที่มีชีวิตและรายได้ผูกโยงอยู่กับอุตสาหกรรมนี้
หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ แม้จะมีมูลค่าสูงในเชิงตัวเลข แต่แท้จริงแล้วกลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต และต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด
ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมหมูไทยคือสินค้าของไทยอย่างแท้จริง ทุกขั้นตอนของการผลิตเกิดขึ้นภายในประเทศ ตั้งแต่พืชอาหารสัตว์จนถึงเนื้อหมูในจานอาหาร สร้างรายได้ กระจายการจ้างงาน และหมุนเวียนเม็ดเงินสู่ชุมชนทั่วประเทศอย่างแท้จริง
ประเทศไทยมีระบบห่วงโซ่อุปทานในภาคปศุสัตว์ที่แข็งแกร่งและครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงเชือด โรงแปรรูป รวมถึงแรงงานในระบบอีกนับล้านคน ทุกขั้นตอนเกิดขึ้นในประเทศ และเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด
อุตสาหกรรมนี้จึงสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศได้ถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมด หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือ เป็น “เม็ดเงินที่เกิดและอยู่ในประเทศไทย” ไม่ใช่รายได้ที่ไหลออกไปต่างประเทศเหมือนในหลายอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้า
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะ “ครัวของโลก” ด้วยระบบการผลิตในภาคปศุสัตว์ที่เข้มแข็ง และเชื่อมโยงกับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ทั้งเกษตรกร โรงงานแปรรูป และผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ
รายได้จากอุตสาหกรรมหมู ไม่ได้สะท้อนแค่ตัวเลขในระบบเศรษฐกิจ แต่คือเม็ดเงินที่หมุนเวียนกระจายสู่ทุกพื้นที่ สร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายเล็ก และชุมชนที่อยู่ในห่วงโซ่นี้อย่างแนบแน่น อุตสาหกรรมหมูจึงไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง แต่คือโครงสร้างเศรษฐกิจภายในที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ
ดังนั้น “ครัวของโลก” จึงไม่ใช่เพียงคำขนานนาม แต่คือความหมายที่ลึกซึ้งของระบบเกษตรกรรมไทย ที่เลี้ยงดูผู้คนทั้งในและนอกประเทศ เราจึงจำเป็นต้องปกป้องห่วงโซ่การผลิตนี้ ซึ่งเป็นรากฐานของคนไทย ให้คงอยู่และเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไป