รีเซต

เยอรมันเตรียมส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ IRIS-T SL ให้ยูเครนอีก 2 เครื่องภายในสิ้นปี 2023

เยอรมันเตรียมส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ IRIS-T SL ให้ยูเครนอีก 2 เครื่องภายในสิ้นปี 2023
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2566 ( 11:12 )
86

มาร์ติน เยเกอร์ (Martin Jäger) เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำยูเครน กล่าวในฟอรัม ‘สูตรสำเร็จสำหรับยูเครน (Success Formula for Ukraine) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2023 ว่าเยอรมันจะมีการส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ IRIS-T SL (InfraRed Imaging System Tail/Thrust Vector-Controlled Serface Launched) ไปช่วยยูเครนอีก 2 เครื่องภายในสิ้นปีนี้


เยเกอร์กล่าวเพิ่มเติมว่าอุตสาหกรรมป้องกันของเยอรมันพุ่งความสนใจไปที่การสร้างความสัมพันธ์ทางกลยุทธ์ระยะยาวกับยูเครน โดยมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือยูเครนป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งระบบป้องกันภัยทางอากาศได้แก่ ระบบเกพาร์ด (Gepard) ไอริส-ที เอสแอล (IRIS-T SL) และระบบเพทริอ็อท (Patriot) ซึ่งเยเกอร์ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าทั้ง 2 ประเทศ ได้ตกลงกันในการจัดหาระบบเพทริอ็อทและ IRIS-T SL เพิ่มเติม โดยระบบป้องกันภัยทางอากาศ IRIS-T SL อีก 2 เครื่อง จะถูกส่งไปยังยูเครนภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้เยอรมันเคยส่ง IRIS-T SL ไปให้ก่อนหน้าแล้ว 3 เครื่อง




ที่มารูปภาพ Diehl


สำหรับ IRIS-T SL (Serface Launched) เป็นระบบที่จะประกอบอยู่ในรถคอนเทนเนอร์ สามารถยิงจากพื้นดินได้และเพิ่มพิสัยการยิง โดยมันเป็นระบบที่พัฒนาต่อยอดมาจากมิสไซล์นำวิถีชื่อ IRIS-T 


ซึ่งมิสไซล์นำวิถี IRIS-T เป็นมิสไซล์อากาศสู่อากาศ (Air to air) หรือมิสไซล์พิสัยใกล้แบบอินฟาเรดที่ยิงจากอากาศยาน เพื่อโจมตีเป้าหมายที่อยู่ในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นจรวด โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ มีความคล่องตัวสูงมาก ใช้ระบบตรวจจับด้วยอินฟาเรด หรือการตรวจจับความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเป้าหมาย ให้ภาพอินฟาเรดความละเอียดสูง แยกแยะเป้าหมายได้ดี ทั้งนี้เมื่อฝ่ายตรงข้ามยิงโจมตี ก็มักจะยิงพลุหรือเลเซอร์เพื่อทำให้ระบบตรวจจับอินฟาเรดของ IRIS-T สับสน แต่ IRIS-T ยังสามารถแยกแยะเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น มันสามารถล็อกเป้าหมายได้ทั้งแบบก่อนและหลังยิงมิสไซล์


ความยาวของ IRIS-T อยู่ที่ 2.936 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 12.7 เซนติเมตร สามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ 3 มัค หรือราว 3,675 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วพอที่จะเข้าถึงเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามได้อย่างรวดเร็วและจะโจมตีเป้าหมายด้วยการระเบิดความแรงสูงใกล้เป้าหมาย


IRIS-T เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 2005 และปัจจุบันใช้ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรีย เบลเยียม เยอรมนี สวีเดน รวมถึงไทยของเราเช่นกัน ด้วยราคา 455,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16 ล้านบาท



ที่มารูปภาพ Diehl, Reuters



คุณสมบัติของ IRIS-T ทั้งหมดนี้ถูกนำมาพัฒนาเป็น IRIS-T SL ซึ่งนอกจากจะยิงจากพื้นได้และเพิ่มพิสัยการยิงแล้ว ยังพัฒนาให้เชื่อมต่อกับ GPS ทำให้สามารถควบคุมมิสไซล์จากศูนย์บัญชาการได้ มี 2 รุ่น คือ IRIS-T SLM และ IRIS-T SLS ความแตกต่างคือพิสัยการยิง สำหรับ IRIS-T SLM จะมีพิสัยการยิงที่ 40 กิโลเมตร ในขณะที่ IRIS-T SLS มีพิสัยการยิงน้อยกว่าคือที่ 12 กิโลเมตร แต่ทั้งนี้ไม่แน่ชัดว่ารุ่นที่เยอรมันจะส่งให้ยูเครนภายในสิ้นปีนี้เป็นรุ่นใด


ไม่เพียงให้ความช่วยเหลือด้านการทหารเท่านั้น แต่เยอรมันยังจะมีการเสริมสร้างความสามารถด้านพลังงานของยูเครนด้วย


ทั้งนี้ เยอรมันถือว่าเป็นผู้ช่วยเหลือแก่ยูเครนในระหว่างสงครามมานานแล้ว โดยนับตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 - 31 กรกฎาคม 2023 เยอรมันได้ช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครนเป็นมูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 6.59 แสนล้านบาท




ที่มาข้อมูล Ukrinform, SAAB, News.yahoo, Militarytoday, Diehl

ที่มารูปภาพ DiehlReuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง